ตะลึง! ยอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคจากอาหาร มีมากกว่า “เอดส์-มาลาเรีย-หัด”รวมกัน โดยแต่ละปีได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปถึง 420,000 ราย ส่วนยอดผู้ป่วยปีละ 600 ล้านรายทั่วโลก
นางกุณฑ์ทาวี กถิรสาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้แทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวในงาน “วันความปลอดภัยอาหารโลก” ซึ่งจัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรกว่า ในแต่ละปี อาหารที่ไม่ปลอดภัยหรือน้ำที่ไม่สะอาดได้คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลก ไปมากกว่าโรคเอดส์ โรคมาลาเรียและโรคหัดรวมกันเสียอีก ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น การเสียชีวิตและความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยในหลายๆ กรณีนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น และน่าจะป้องกันได้ หากทุกคนช่วยกัน
นางกุณฑ์ทาวี กล่าวว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุจากอาหารประมาณ 600 ล้านคนต่อปี เสียชีวิต 420,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีประชากรล้มป่วยด้วยสาเหตุจากอาหารถึง 275 ล้านคนต่อปี สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างชัดเจน ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้สูญเสียรายได้ ทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนช้าลง โดยเฉพาะการขจัดความหิวโหยบนโลกให้หมดไปภายในปี 2573 (Zero hunger by 2030)
สำหรับภาพรวมความปลอดภัยด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก อาหารปนเปื้อนในภูมิภาคนี้เกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มาจากการจัดการอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย อาทิ อาหารริมทางและอาหารในตลาดสดที่ถูกทิ้งไว้เป็นเวลานานหลายชั่วโมงในสภาพอากาศร้อน อาหารที่ปรุงไม่สุกและไม่ได้แช่เย็นในอุณหภูมิที่เหมาะสม การปรับปรุงข้อปฏิบัติด้านสุขอนามัยในภาคการเกษตรและการผลิตอาหารจะช่วยลดการเกิดและการแพร่กระจายของเชื้อโรคในห่วงโซ่อาหารและในสภาพแวดล้อม การให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภคจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการลดความเสียงจากโรคที่เกิดจากอาหารได้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
นางกุณฑ์ทาวี กล่าวว่า การปรับปรุงความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศต่างๆ การที่รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้เล็งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นทั้งปัญหาทางด้านสาธารณสุข เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าเกษตรทำให้มีการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงความปลอดภัยด้านอาหารในภูมิภาคแห่งนี้เพิ่มขึ้น ธนาคารโลกประมาณการว่าในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง อาหารที่ไม่ปลอดภัยทำให้เกิดการสูญเสียเงินไปถึง 95 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นางกุณฑ์ทาวี กล่าวอีกว่า ตลอดห่วงโซ่อาหาร ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ภาคการผลิตอาหารและการเกษตรควรปฏิบัติตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย ประเทศสมาชิกของ FAO ร้องขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการจัดการอาหารปลอดภัย โดย FAO ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่เรียกว่า Codex Alimentarius ให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตาม ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นความรับผิดชอบและเป็นหน้าที่ของทุกคน
โดยการจัดงานวันความปลอดภัยอาหารโลกในปีนี้ อยู่ภายใต้หัวข้อ ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นความรับผิดชอบและเป็นหน้าที่ของทุกคน (Everyone’s responsibility and Everyone’s business ) เจ้าหน้าที่รัฐต้องให้ความมั่นใจว่ากฏเกณฑ์มีความโปร่งใสและถูกบังคับใช้อย่างยุติธรรม ส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบของภาคเอกชนคือการนำมาตรฐานอาหารปลอดภัยและระบบการจัดการที่ดีไปใช้เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารที่ผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ในส่วนของผู้บริโภคเองก็มีหน้าที่ต้องช่วยกันระมัดระวังและเพิ่มความตระหนักรู้ในเรื่องหลักปฎิบัติที่ดีและถูกต้องเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และโรงเรียนด้วยเช่นกัน
“วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันความปลอดภัยอาหารโลก คือการสร้างความตระหนักรู้ว่าผลของการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยมีผลร้ายแรงต่อสุขภาพเพียงใด โดยเฉพาะอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารปนเปื้อนจากการจัดการที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตผู้คน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าความเจ็บป่วยเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นและทุกคนสามารถมีบทบาทสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้” นางกุณฑ์ทาวี กล่าว
สำหรับ “วันความปลอดภัยอาหารโลก” (World Food Safety Day) จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญในการปรับปรุงความปลอดภัยอาหาร และต้องการยกระดับการบริโภคอาหารและมาตรฐานการครองชีพของประชากรในโลกให้ดีขึ้น หลุดพ้นจากความยากจน ขจัดความหิวโหย และเพิ่มสมรรถนะในการผลิตและการจัดสรรผลิตผลการเกษตรของโลกให้สูงขึ้น โดยเป็นมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN General Assembly) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ที่ได้ประกาศให้วันที่ 7 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยอาหารโลก” (World Food Safety Day) โดยปี2562 นี้ เป็นการจัดงานครั้งแรกของโลก