ทุ่งเจ้าพระยาน้ำน้อยข้าวซึม กรมชลฯผันน้ำแม่กลองช่วย

ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน

กรมชลประทานเร่งเครื่องผันน้ำแม่กลองเข้าช่วยทุ่งเจ้าพระยา ระบุวันนี้มีน้ำต้นทุนน้อย วอนเกษตรกรงดทำนาปรังแจงไม่มีน้ำสนับสนุน ล่าสุดพบปลูกข้าวไปแล้ว 1 ล้านไร่

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลัก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำรวมกัน 11,524 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างทั้งหมด มีน้ำใช้การได้รวม 4,828 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับเขื่อนภูมิพลมีน้ำ 5,748 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 1,948 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำ 5,017 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 2,167 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำ 468 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 425 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำ 293 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 290 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง รวมกันวันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในฤดูแล้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากน้ำต้นทุนน้อย ไม่เพียงพอสนับสนุนสำหรับการทำการเกษตร แต่เกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังไป 1.06 ล้านไร่แล้ว จึงขอความร่วมมืองดปลูกเพิ่มเพราะเสี่ยงที่จะเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ

นายทองเปลว กล่าวว่าแผนจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูแล้งปี 2562/63 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งไว้รวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. โดยจำเป็นต้องผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริม 500 ล้าน ลบ.ม. และวางแผนสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 อีกประมาณ 2,284 ล้าน ลบ.ม. โดยผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริม 350 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้กรมชลประทานเฝ้าระวังค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยมีการเฝ้าระวังสถานีที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีประปาสำแล แม่น้ำปราจีน-บางปะกงที่สถานีปราจีนบุรี แม่น้ำท่าจีนที่สถานีปากคลองจินดา และแม่น้ำแม่กลองที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก โดยทุกแห่งยังอยู่ในค่าปกติซึ่งเกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับการผลิตน้ำประปาอยู่ที่ 0.25 กรัมต่อลิตร

ส่วนเกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับการเพาะปลูกกล้วยไม้อยู่ที่ 0.75 กรัมต่อลิตร และเกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับการทำการเกษตรอยู่ที่ 2 กรัมต่อลิตร แต่หากเข้าสู่ช่วงกลางฤดูแล้ง ปริมาณน้ำต้นทุนจะลดลง ทางกรมชลประทานจึงได้วางแผนนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมพื้นที่ท้ายลุ่มเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และการทำเกษตรกรรม

“ขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่ปลูกข้าวต่อเนื่องหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จแล้ว เนื่องจากน้ำในเขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ไม่เพียงพอสนับสนุน หากทำการเพาะปลูกอาจได้รับความเสียหายได้ รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด สูบน้ำให้เป็นไปตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด”

“นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันที “

“ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด” นายทองเปลว กล่าว

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน