‘มนัญญา’ ปลื้มโรงงานนม อ.ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นแท่นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์โคนม ด้านผู้บริหารวางเป้าบุกตลาดสปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม คาดยอดขายเพิ่มอีกกว่า 1 พันล้านบาทจากเป้าที่ตั้งไว้ 12,000 ล้านบาทในปี 2563
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วย ดร.อาทิตย์ เพ็ชรรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อ.ส.คได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สำนักงานภาคเหนือตอนบน โรงงานผลิตภัณฑ์นมห้วยแก้ว ตำบลห้วยแก้ว อ.เมืองจ.เชียงใหม่ โดยมี ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผอ.อ.ส.ค. พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน อ.ส.ค. ให้การต้อนรับ
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดโคนมอาชีพพระราชทานให้มีความมั่นคง ยั่งยืน พร้อมมอบนโยบายให้ อ.ส.ค. เร่งส่งเสริม พัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและพัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลายควบคู่กับการเร่งขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คสู่ประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น
นอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับ อ.ส.ค. แล้วยังเป็นการช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรโคนมให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยปี 2563 ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 12,000 ล้านบาท ส่วนปี 2562 จะสามารถทำรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2561 รายได้อยู่ที่ 9,560 ล้านบาท
สำหรับโรงงานนม อ.ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทุ่มงบลงทุนกว่า 40 ล้านบาท ในการขยายกำลังผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ โดยการปรับโรงงานนม ระบบการผลิต เปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ สามารถทำการผลิตผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ ได้ถึง 6ตัน/ชม. ส่งผลให้อ.ส.ค. สามารถรับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากทางภาคเหนือได้เพิ่มขึ้นทำให้มีกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์เพิ่มจากเดิม และสามารถส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น พร้อมกระจายผลิตภัณฑ์เข้าถึงตลาดทั่วพื้นที่ในภาคเหนือรวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตามมีแผนจะขยายตลาดไปยังกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟตลอดจนร้านนมต่างๆในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย
นางสาวมนัญญากล่าวว่าปัจจุบัน อ.ส.ค. รับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ฯ รวมกว่า 44 สหกรณ์ เฉลี่ย 800 ตันต่อวัน เพื่อรองรับการผลิตในโรงงาน อ.ส.ค. ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน (จังหวัดเชียงใหม่) ภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดสุโขทัย) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) ภาคใต้ (อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และภาคกลาง (อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี)
ที่สำคัญมีแผนผลักดันให้โรงงานนม อ.ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของแหล่งการเรียนรู้ในกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนม ตลอดจนนักเรียน/นักศึกษา องค์กรต่างๆที่สามารถเข้ามาขอเยี่ยมชมศึกษาดูงานและชมกระบวนการผลิตของ อ.ส.ค. เพื่อได้เห็นการพัฒนาและขั้นตอนการผลิต ผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพ ตลอดจนได้ศึกษาเรื่องราวของโคนมอาชีพพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มอบให้แก่เกษตรกรไทยได้มีอาชีพทำกิน และ อ.ส.ค. ได้ทำหน้าที่ขององค์กรเพื่อสืบสานและสานต่อในอาชีพการเลี้ยงโคนมให้อยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป
“อ.ส.ค. มีการปรับปรุงและขยายการผลิตพร้อมการเซ็นสัญญาร่วมกับสหกรณ์ 3 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด สหกรณ์โคนมแม่โจ้ จำกัด และสหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด โดยปริมาณน้ำนมดิบที่สามารถรับจากเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ได้ถึง 22 ตัน/วัน ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีมากที่จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงโคนมได้เพิ่มขึ้น” นางสาวมนัญญา กล่าว
ด้าน ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่าผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดดังนั้น การลงทุนในการปรับปรุงและการขยายไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปทั่วทุกพื้นที่ในเขตภาคเหนือและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเมียนมาร์ (M) สปป.ลาว (L) และเวียดนาม (V) ซึ่งคาดว่ารายได้ในปี 2563 จะสามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 ล้านบาท
ปรัชญา รัศมีธรรมกุล รายงาน