เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
‘เฉลิมชัย’ อารมณ์เสีย จ่อยกเลิกสัญญาขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแม่กวงแม่งัด จ.เชียงใหม่ หลังตรวจพบช้ากว่าแผนถึง 58% สั่งกรมชลประทานตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดงานทุกระยะ เตือนอย่าให้เสียหายกับประชาชนและเงินหลวง พร้อมแก้วิกฤติแล้งลุ่มเจ้าพระยา วางเป้าผันน้ำภาคตะวันตกมาช่วย2พันล้านลบ.ม.
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ติดตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ได้เดินตรวจในจุดก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำและประตูระบายน้ำแม่ตะมาน กั้นลำน้ำแม่แตง พร้อมกับประชุมซักถาม กรมชลประทาน บริษัทผู้รับเหมาอย่างละเอียดถึงปัญหาความล่าช้าและสั่งมาตรการแนวทางแก้ไขทั้งระบบ ว่าได้สั่งการให้กรมชลประทาน และเอกชน เร่งรัดการก่อสร้างทั้งระบบทุกสัญญา 4 สัญญาวงเงิน1.5หมื่นล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในอายุสัญญาปี2564
ขณะเดียวกันได้มอบให้ฝ่ายนโยบายได้ช่วยประสานงานในเรื่องอนุญาตให้ใช้พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา เพราะหากโครงการนี้สำเร็จ จะช่วยปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัยใน จ.เชียงใหม่ และลำพูน โดยโครงการนี้จะรับน้ำจากลำน้ำแม่แตง ไปเติมเขื่อนแม่กวงฯได้ปีละประมาณ160ล้านลบ.ม.
ทั้งนี้ได้กำชับให้เร่งรัดโครงการทุกระยะเพื่อให้ได้ตามแผนงาน ปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดทุกโครงการของกรมชลฯให้เสร็จตามสัญญา จะได้หารือกับผู้รับเหมาเพื่อให้เร่งทำงาน ซึ่งกรรมการมีหน้าที่คอยกระตุ้นตลอด ไม่เช่นนั้นก็จะเสียหายต่อประชาชนและเงินหลวง แต่ด้วยระบบบวิธีงบประมาณ ตราบใดที่ยังอยู่ในระยะเวลาสัญญา จะไปยกเลิกบริษัทยังไม่ได้ จะทำให้โดนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย แต่ถ้าบริษัทใดทำไม่เสร็จตามสัญญา พร้อมยกเลิกทุกบริษัท อย่างที่หาดใหญ่ ตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการเกษตรฯเห็นผิดสัญญา ไปสั่งยกเลิกเลย และสั่งให้กรมชลฯเข้าไปดำเนินต่อให้แล้วเสร็จ จากนี้จะมีอีกหลายโครงการที่ต้องยกเลิก
“กังวลในส่วนอุโมงค์ส่งน้ำสองฝั่งที่ยังไม่เชื่อมกันจากความล่าช้า ซึ่งกรมชลประทานชี้แจงว่าเหตุล่าช้าของการเจาะอุโมงค์สองช่วง จากธรณีวิทยา และสภาพดิน บางช่วงจุดเจาะไปเจอถ้ำทำให้เครื่องหัวเจาะทำงานไม่ได้ ต้องมีการปรับหัวเจาะ บางวันแผนการเจาะได้ 5 เมตร ก็จะเหลือ2-3เมตรต่อวัน ดังนั้นเหลือ 2 ปี จากนี้จะต้องเร่งรัด และรายงานมาถึงตนให้ทราบทุกระยะ หากติดปัญหาอะไร ผมจะสั่งเร่งแก้ไขทันทีเพิ่มกำลังคน เครื่องมือ เพราะงานนี้ต้องให้เสร็จทันสิ้นสุด สัญญาปี2564 ถ้าบริษัทใดผิดสัญญาผมไม่เอาไว้ ยกเลิกแน่นอน ไม่ได้ขู่จะทำจริงเพราะยิ่งล่าช้า ประชาชนจะเสียโอกาสในการแก้ไขความเดือดร้อน และการใช้งบประมาณแผ่นดินต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกพื้นที่”นายเฉลิมชัย กล่าว
ที้งนี้ในส่วนการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ท่ออุโมงค์ส่งน้ำลงเขื่อนแม่งัด คืบหน้าแล้ว 50 % ช่วยชะลอน้ำลงแม่น้ำปิง ท่อส่งน้ำลงเขื่อนแม่งัด ส่งไปเขื่อนแม่กวง อีกทอด ระยะแรก 13 กม.คืบหน้าไปมาก ปลายปี 2564 น่าจะเห็นผลสำเร็จ กรณีปีน้ำหลาก อุกทภัยจะช่วยชะลอ ลดท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ได้ ในส่วนท่ออุโมงค์ผ่านพื้นที่อุทยาน จะดำเนินการเร็วที่สุดทุกหน่วยงานรับบัญชาจากนายกรัฐมนตรี จะทำงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตามโครงการนี้ในภาพรวมปัจจุบันก้าวหน้า ไป 42% โดยอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด เริ่มอายุสัญญาวันที่ 23 มิ.ย.2559 – วันที่ 27 พ.ค.2564 และอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด แม่กวง เริ่มสัญญา วันที่ 24 มี.ค.2558 – วันที่ 18 ส.ค.2564 แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง 4 สัญญา รวมขุดเจาะอุโมงค์ยาว 49 กม.คือ
สัญญาที่ 1 ยาว 13.6 กม.วงเงิน 2.8 พันล้านบาท อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด ผู้รับจ้างโดยบริษัทไร้ททันเน็ลลิ่ง จำกัด ก่อสร้างแล้ว 51% เร็วกว่าแผน 2.05%
สัญญาที่ 2 อุโมงค์ยาว 12.2 กม.วงเงิน 2.1 พันล้านบาท ผู้รับจ้างคือบริษัทสยามพันธุ์วัฒนา จำกัด(มหาชน)ดำเนินการแล้ว 18 % ล่าช้ากว่าแผน 64% ในส่วนอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง
สัญญาที่ 1 อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง ผู้รับจ้างคือบริษัทอิตาเลียนไทยดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน)ยาว 12.5 กม.วงเงิน 2.3 พันล้านบาท ก้าวหน้า 23% ล่าช้า 48%
สัญญาที่ 2 บมจ.ยูนิคเอนจิเนียริ่ง อุโมงค์ยาว 10.4 กม.วงเงิน 1.8 พันล้านบาท ก้าวหน้า 79 % ล่าช้ากว่าแผน 29 % เริ่มสัญญาวันที่ 28 เม.ย.2558 – วันที่ 22 ก.ย.2562โดยโครงการทำอุโมงค์ผันน้ำจากลำน้ำแม่แตง 26 ลบ.ม.ต่อวินาที นี้เป็นการรองรับการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในอนาคต 173 ล้านลบ.ม.ต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีการขยายตัวเขตเมือง เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว 2 จังหวัด
นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯกล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ด้วยว่าได้บูรณาการทุกหน่วยงาน ช่วยเหลือประชาชนได้ทุกพื้นที่ ซึ่งสั่งกรมชลประทานผันน้ำจากภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ ลุ่มน้ำแม่กลอง มีน้ำมาก จะผันน้ำไปช่วย ลุ่มเจ้าพระยา จากแผนวางไว้ 800 ล้านลบ.ม.เพิ่มเป็น 2 พันล้านลบ.ม.
“ยืนยันว่าการบริหารจัดการที่ดี แม้น้ำต้นทุนน้อยจะผ่านไปได้ โดยจะต้องมีน้ำเพียงพอในการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ และปรับเปลี่ยนทำเกษตร บางพื้นที่มาปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย บูรณาการทั้งหมด กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงไปทำบ่อบาดาล ติดตั้งแผงโซลาเซล และสั่งกรมชลประทานเดินหน้าโครงการผันน้ำลำน้ำยวม มาเติมน้ำเขื่อนภูมิพล ผันน้ำจากภาคตะวันตกมามากขึ้น ซึ่ง กรมชลประทานนำเสนอแผนมาแล้ว ส่วนทำนาปรัง ได้ประกาศห้ามมาแต่ต้นฤดูแล้ง และที่ปลูกไปแล้วน้ำไม่พอ รับความเสี่ยงเสียหายได้”นายเฉลิมชัย กล่าว
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน