โครงการ 459 ได้รับการตอบรับจากคนรากหญ้า จังหวัดเพชรบูรณ์ ล่าสุดชุมชนร่วมมือร่วมใจสร้าง “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านไร่” ถ่ายทอดความรู้ให้คนที่สนใจ
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 นายพงษ์พิทยา ธนไกรศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานพิธีเปิด ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านไร่ ซึ่งอยู่ในวัดบ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร นักเรียน และคนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งดูแลรับผิดชอบทางด้านสาธารณสุข กล่าวในพิธีเปิดงานว่า ปัจจุบันมีคนไทยเป็นจำนวนมากเจ็บป่วยจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะการบริโภคผักชนิดต่างๆ ยังได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ตกค้าง จึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วนของจังหวัดเผยแพร่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างถูกวิธีจนชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจร่วมกันสร้าง ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านไร่ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจนำไปทำตาม
นายมเนศ จันดา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านไร่ หมู่ที่ 1 ต.บ้านไร่ ประธานศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านไร่ เปิดเผยที่มาของการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ว่า ในปี พ.ศ.2559 ได้ตรวจสารพิษในร่างกายของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรพบว่า 90% มีสารพิษตกค้างในร่างกายเกินมาตรฐาน จึงรณรงค์ให้ชาวบ้าน ลด เลิก การใช้สารเคมี หันมาปลูกผักอินทรีย์ไว้บริโภคในครัวเรือน นำมาจำหน่ายทุกวันพุธและวันศุกร์ โดยใช้วัดบ้านไร่เป็นศูนย์กลางการ ซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนความคิด และส่งเสริมการเรียนรู้การปลูกผักอินทรีย์
นายมเนศ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ในปี พ.ศ.2560 ชุมชนบ้านไร่ได้เข้าร่วมอบรมโครงการทุนอาหารกลางวัน ที่โรงเรียนเมืองกลางวิทยาคม ซึ่งจัดโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) การอบรมดังกล่าวมีการสาธิตปลูกผักอินทรีย์ โครงการ 459 ชุมชนเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ จึงเชิญวิทยากรจาก ธ.ก.ส. มาอบรมและสาธิตให้กับชาวบ้านที่สนใจจนเกิดความร่วมมือร่วมใจช่วยกันสร้างศูนย์แห่งนี้ขึ้นมา
ทางด้าน นายประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เล่าถึงความเป็นมา โครงการ459 ว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหา ภัยแล้ง และน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย ระหว่างที่รอการทำเกษตรในฤดูกาลต่อไปต้องใช้เวลานานหลายเดือน เกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในครอบครัว
ธ.ก.ส.จึงน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัยจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรและจัดทำ โครงการสร้างความเข้มแข็งระดับครัวเรือน(โครงการ 459) ซึ่งตัวเลข 459 มีความหมายว่าเดินออกจากบ้าน 4-5 ก้าวก็มีอาหารปลอดภัยให้บริโภค เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ผลผลิตเหลือจากการบริโภคสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
นายประเสริฐฯ ยังเล่าต่อไปว่า โครงการ 459 ได้เริ่มนำร่องไปแล้วใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง รวม 27 ชุมชน บางชุมชนที่เข้มแข็งก็ได้นำผลผลิตไปจำหน่ายในห้าง Modern Trade กันบ้างแล้วและทาง ธ.ก.ส.ก็ยังสนับสนุนการดำเนินงานและขยายผล โครงการ 459 อย่างต่อเนื่อง
สำหรับบรรยากาศการเปิดศูนย์ฯ ในครั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นเกษตรที่ปลูกผักอินทรีย์ในจังหวัดเพชรบูรณ์ และยังมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง , ภาคเอกชน , องค์กรเอกชน (NGO) , สถานศึกษาเข้ามาร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเข้าไปเรียนรู้ การปลูกผักอินทรีย์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การเพาะกล้า การปลูกลงแปลง และการปลูกในถุงซึ่งเป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย ง่ายต่อการดูแล ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน
ธาดา ปรีชาชาติ รายงาน
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายมเนศ จันดา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านไร่ ประธานศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านไร่ หมู่ 1 ต.บ้านไร่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์โทร. 084-688-8618