พาณิชย์เข็นFTAเขย่าฐานราก เข้ม!ฟื้นเศรษฐกิจชุมชนทุกมิติ

วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ปี 2563 เป็นปีหนูทองของคนตัวเล็ก “วีรศักดิ์”สั่งลุยฟื้นเศรษฐกิจฐานรากทุกมิติ กางแผนพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทุกประเภทธุรกิจ และผลักดันขึ้นทะเบียน GI อีก 18 สินค้าจาก 17 จังหวัด พร้อมลงพื้นที่ชี้โอกาสให้สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนใช้ FTA หนุนส่งออกสินค้าเกษตร

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานในปี 2563 ของหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา โดยขอให้ผู้บริหารทุกคนมุ่งมั่นผลักดันการทำงานในปีหนูทองให้เป็นปีทองของการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในทุกมิติ ซึ่งหน่วยงานในสังกัดต่าง ๆ จะปูพรมขับเคลื่อนภารกิจเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างเต็มกำลัง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพร้อมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการทุกประเภทธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจชุมชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีแผนขยายช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ในรูปแบบ Omni Channel เพื่อเชื่อมโยงการค้าไปยังตลาดระดับภาคและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม

อีกทั้งจะดำเนินการพัฒนาร้านค้าปลีกสู่การเป็น Smart โชวห่วย การผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ช่องทาง e-Commerce เพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส ที่มีศักยภาพและเป็นที่นิยม รวมถึง จะมีการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP Select ไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ และอู่ตะเภาเพิ่มเติมอีกด้วย

​นายวีรศักดิ์ กล่าวว่าในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีแผนในการผลักดันสินค้า GI ให้ครอบคลุมทุกมิติโดยใน ปี 2563 ทางกรมจะพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน GI อีกจำนวน 18 สินค้าจาก 17 จังหวัด ได้แก่ โอ่งมังกรราชบุรี ,ข้าวขาวกอเดียวพิจิตร , ผ้าหม้อห้อมแพร่ , ลูกหยียะรัง ปัตตานี , ส้มโอทองดีบ้านแท่น ชัยภูมิ ,

ตามด้วย กระเทียมศรีสะเกษ , หอมแดงศรีสะเกษ , พริกไทยจันท์ , เงาะทองผาภูมิ กาญจนบุรี , ข้าวหอมมะลิพะเยา , กลองเอกราช อ่างทอง , ข้าวไร่ดอกข่าพังงา , กล้วยตากสังคม หนองคาย , ทุเรียนชะนีเกาะช้าง ตราด , กาแฟดอยป่าแป๋ลำพูน , สับปะรดบึงกาฬ , ส้มจุกจะนะ สงขลา และกล้วยหอมทองปทุม

ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริม GI ในต่างประเทศ โดยจะนำสินค้า GI จำนวน 5 รายการ ได้แก่ ทุเรียนปราจีนบุรี และมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ไปจด GI ที่จีน เพราะเป็นสินค้าที่ชาวจีนนิยมบริโภค และ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ไปจด GI ที่ประเทศมาเลเซีย รวมไปถึงมีแผนที่จะลงพื้นที่ส่งเสริมการจัดทำคำขอสำหรับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นใหม่ๆ การจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และส่งเสริมช่องทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็ได้กำชับให้กรมเจรจาฯ เร่งผลักดันสินค้าเกษตรออกสู่ประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ โดยตนจะนำทีมลุยลงพื้นที่ทั่วประเทศไปพบผู้ประกอบการและเกษตรกรเพื่อชี้ช่องทางค้าขายด้วยตนเองต้องการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอและกระจายสินค้าไทยสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป

ในปี 2563 มีแผนที่จะร่วมลงพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย เช่น นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ ตาก ชัยภูมิ ระยอง ตราด สงขลา และกระบี่

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT สืบเนื่องจากกระแสการตอบรับงานเทศกาลนานาชาติ พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2019 เมื่อวันที่ 4-8 ธันวาคม 2562 ได้รับการตอบรับดีเกินคาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้ซื้อและนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเดินทางไปจังหวัดจันทบุรีอย่างต่อเนื่อง สร้างบรรยากาศการค้าที่คึกคักให้กับตลาดค้าพลอยอย่างชัดเจน จากที่ก่อนหน้านี้ค่อนข้างเงียบเหงาจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ดังนั้น GIT จึงจะยกระดับการจัดงานในปี2563 ให้ยิ่งใหญ่และเข้มข้นกว่าเดิม ทั้งในแง่การเชิญชวนผู้ประกอบการที่นำสินค้าที่มาจำหน่าย ให้มีปริมาณมากขึ้น มีความหลากกลายและคุณภาพ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า

ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการประมูลพลอย นิทรรศการ และการสัมมนาต่างๆ ที่จะทำให้งานมีความน่าสนใจมากขึ้น มุ่งเน้นจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย พร้อมตอกย้ำภาพลักษณ์จังหวัดจันทบุรีในฐานะนครแห่งอัญมณีของโลก

นายวีรศักดิ์ ระบุว่า ในส่วนของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ในวันที่ 16 มกราคม 2563 จะเดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปพบผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยในพื้นที่ภาคกลาง ในการประชุม SACICT Craft Network ครั้งที่ 4 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายงานหัตถศิลป์ ในกลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคกลางกว่า 686 ราย

สำหรับไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ต้องการชี้ให้ผู้ผลิตเห็นถึงความสำคัญของการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางการค้าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในแวดวงศิลปหัตถกรรม เน้นการปรับกระบวนการคิด สร้างมุมมองใหม่ให้ช่างผู้ผลิตสามารถผลิตงานศิลปหัตถกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ต่อยอดเกิดเป็นอาชีพและขายได้จริงในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“เป็นเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจชุมชนตอบสนองนโยบายผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคได้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน” นายวีรศักดิ์ กล่าว

ปรัชญา รัศมีธรรมกุล รายงาน