นิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เทดฟันด์ใช้แอพฯวัดฝีมือ/หางานพร้อมวิธีเรียนออนไลน์สำหรับเด็กเล็ก เผยเปิดตัวแอพพลิเคชั่นปลุกกระแสอาชีพโปรแกรมเมอร์ หลังพบขาดตลาดถึง 1 ล้านคน หวังพัฒนาทักษะให้คนไทย
นายนิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ให้มีการตื่นตัวในการพัฒนาความรู้อยู่เสมอ TED Fund จึงได้รวบรวมแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ จากโครงการจัดสรรเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (รุ่นประชาชนทั่วไป) และโครงการจัดสรรเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (เครือข่ายปริญญาโท และปริญญาเอก รุ่นที่ 2) มาให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้ รวม 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่
แพลตฟอร์มจัดการความสามารถพิเศษโค๊ดดิ้ง และทักษะด้านความรู้เรียลไทม์ (Real-Time Coding and Soft Skills Talent Platform) โดย บริษัท เควสท์ เอ็ดเทค จำกัด (www.quest.ac) เพื่อรองรับการขาดแคลนโปรแกรมเมอร์ที่มากถึง 1,000,000 ตำแหน่ง โดย quest.ac จะช่วยพัฒนาทักษะ พร้อมระบบ “แมชชิ่ง” ความสามารถของผู้ใช้งานกับลูกค้าในเครือข่ายของบริษัท ที่ต้องการบุคลากรในสายนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแอพพลิเคชั่น อ่าน-เขียน 2 ภาษา TH/Eng สำหรับผู้มีภาวะบกพร่องทางภาษา ภายใต้โครงการ Pasaa-D.com บน www.pasaad.com และแอพพลิเคชั่น ระบบ Android และ iOS เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองนำไปฝึก ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ให้เด็กที่มีพัฒนาการช้า หรือเด็กที่มีภาวะปากแหว่ง-เพดานโหว่ โดย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์, รพ.แม่จัน จ.เชียงราย, รร.ราชประชานุเคราะห์ 15 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
รวมทั้ง รร.ตชด.บ้านห้วยปุ้ม อ.ปง จ.พะเยา ใช้งานอยู่
ขณะที่ CodeKit เป็นแพลตฟอร์มเรียน Coding ออนไลน์สำหรับโรงเรียน ดำเนินการโดยบริษัท Codekit Innovation Co Ltd (www.codekit.co/teacher) เป็นระบบ กึ่ง Self-Learning ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนและทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง และครูสามารถสร้างห้องเรียนสอนออนไลน์ ช่วยตอบคำถาม และสามารถวัดผลการเรียนแบบ real time ได้ เรียนผ่านมือถือโดยใช้ internet ความเร็วต่ำ ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์
สุดท้ายคือ “วอนเดอร์” แชทบอทเพื่อการเรียนรู้ตามพื้นฐานของนักเรียน (Vonder : Chatbot for Personallzed Learning) Vonder คือ EdTech Startup (www.vonder.co.th) แพลตฟอร์ม HRD (Human Resource Development) และสื่อการเรียนรู้แบบ Microlearning สามารถแปลงเนื้อหาที่ยากและน่าเบื่อ ให้มีขนาดสั้นและสนุกเหมือนเล่นเกมส์ ใช้ได้ทั้งในภาคการศึกษาและการอบรมพนักงาน สามารถสร้าง หรือแปลง content ต่างๆ ได้เอง
นายนิคม กล่าวว่า การสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นบนรูปแบบใหม่ๆ แล้ว
แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังเป็นตัวแปลสำคัญ ที่จะกลายเป็นโอกาสด้านการเรียนรู้ และการศึกษาให้กับเยาวชนทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ท่ามกลางภาวะวิกฤตที่ท้าทายในเช่นนี้อีกด้วย
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน