สภาเอสเอ็มอีพบเอสเอ็มอี-แบ็งค์ จังหวัดภูเก็ต

สภาเอสเอ็มอีจังหวัดภูเก็ตประสาน SMEs และสถาบันการเงินในจังหวัด หาทางออกให้ SMEs ผ่านวิกฤติ COVID-19 

23 กรกฏาคม 2563 นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) พร้อมด้วย ดร.ศุภชัย แก้วศิริ รองประธานอาวุโส นายสุปรีย์ ทองเพชร รองประธาน และนายกสมาคมการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทย และนายวรวุฒิ ชิระนุรังสี ผู้จัดการ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พบผู้ประกอบการ SMEs ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย (นายสุรพล นิกรแสน ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารเครือข่ายธุรกิจ สายงานเครือข่ายช่องทางธุรกิจ) ประธานชมรมธนาคาร จังหวัดภูเก็ต และนายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการและสถาบันการเงินในพื้นที่ พร้อมทั้งเยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัด โดยการประสานงานของ ดร.ดวงภัค ธนอัครภัทรกุล ประธานสภาเอสเอ็มอีจังหวัดภูเก็ต

นายไชยวัฒน์ แนะนำสภาเอสเอ็มอีว่าได้รวมตัวกันผลักดันให้เกิดการตั้งสภาเอสเอ็มอีตั้งแต่ปี 2557 เพื่อให้รัฐออกกฎหมายรับรองการรวมกลุ่มของ SMEs เนื่องจากมีแต่กฎหมายส่งเสริม SMEs (สสว.) แต่ไม่มีกฎหมายสภาเอสเอ็มอีที่กำหนดนิยามของ SMEs ที่จะได้รับการส่งเสริม

ดร.ดวงภัค ให้ข้อมูลว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองที่วิวัฒนาการจากธุรกิจเหมืองแร่ มาเป็นท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง เรียกว่าเมือง “ฝนแปดแดดสี่” คือ ทำงานสี่เดือนหยุดแปดเดือนเริ่มเเรกของการเข้าสู่ยุคการท่องเที่ยวใหม่ๆ ยังอยู่กันได้ พอยุคปลายๆ ของสภาวะบูมการท่องเที่ยว หลังมีสายการบิน Low Cost เกิดขึ้น รายได้หลั่งไหลเข้ามา จากการท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเมื่อการท่องเที่ยวขาดหายก็มีผลกระทบโยงใยทุกเครือข่าย ตึงถึงคราต้องปรับเปลี่ยนเเผนยุทธศาสตร์

SMEs จังหวัดภูเก็ตสะท้อนปัญหาที่กระทบจากการแพร่ระบาดจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากภูเก็ตเป็นจังหวัดที่พึ่งพิงธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น การที่จะรักษาการจ้างงานไว้จำเป็นที่จะต้องได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่มีระยะเวลาผ่อนปรน (Grace Period) อย่างน้อย 6-12 เดือน ทั้งนี้ แม้ว่าการสื่อสารในปัจจุบันจะมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก แต่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากธนาคารก็ยังไปได้อย่างไม่ทั่วถึง SMEs จำนวนมากยังไม่มีรับทราบและเข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคาร

ดร.ศุภชัย (ที่ปรึกษาประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามระบบการเงิน การคลัง และระบบเศรษฐกิจ (นายสมบัติ ศรีสุรินทร์)) ให้ข้อมูลแนวทางของโครงการ SMEs Smart Province และสุรินทร์โมเดล เพื่อพัฒนายกระดับ SMEs แบบบูรณาการครบวงจรจากระดับจังหวัด และเชื่อมโยงตลาดระหว่างจังหวัด (ในประเทศ)

คุณสุปรีย์ ฉายภาพความมุมมองที่ไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่าง SMEs ที่มองเรื่องประวัติการดำเนินกิจการและการชำระเงิน ขณะที่ Startup มองที่โอกาสในอนาคต ดังนั้น ปัจจัยที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาจึงควรมีเรื่อง การต้างแรงงาน กระบวนการด้านการเงินการธนาคาร และโอกาสการดำเนินธุรกิจในอนาคต ปัจจุบัน ร่วมเป็นคณะทำงานด้าน Financial Infrastructure ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการสร้าง Digital Eco System โดยสร้างพื้นฐานจากระบบบัญชี และระบบ Inventory ส่วนเรื่อง Digital Market Place ที่กำลังพัฒนา พบว่า ขาดความสามารถในการ Scale ซึ่งเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องรีบแก้ไขด่วน

ช่วงบ่าย ดร.ดวงภัค นำคณะเข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการ INTERCRAFT FURNITURE ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือ คำสั่งซื้อลดลงกว่าร้อยละ 50 ทำให้ต้องนำช่างบางส่วนไปทำงานก่อสร้าง และเพิ่มวันหยุด เป็นต้น

WC รายงาน

#สภาเอสเอ็มอี #ThaiSMEsCouncil #ไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ #ดร.ศุภชัย แก้วศิริ #สุปรีย์ ทองเพชร #ดร.ดวงภัค ธนอัครภัทรกุล