กทม.ดีเดย์ จัดระเบียบยกซากรถยนต์ในกรุงเทพฯ

สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

24 ก.ค. 63/เวลา 10.00 น. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ติดตามการจัดระเบียบการจอดทิ้งซากรถยนต์ไว้บนถนนหรือสถานสาธารณะ ในพื้นที่เขตสวนหลวง โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางเรณู ซื่อสัตย์ ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง รายงานสภาพปัญหาและผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการขนย้ายซากรถยนต์ ณ ซอยพระรามเก้า 53 เขตสวนหลวง

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เขตสวนหลวงครั้งนี้ ถือเป็นดีเดย์ในการลงพื้นที่เพื่อติดตามเรื่องการยกซากรถยนต์ในกรุงเทพมหานคร สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เข้มงวดปัญหาการจอดทิ้งซากรถยนต์ไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามามาก ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่หลายหน่วยงาน อาทิ กรุงเทพมหานคร ตำรวจนครบาล

ทั้งนี้ อาศัยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ในการเข้ามาจัดการดูแล สำหรับกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้เทศกิจทุกสำนักงานเขตดำเนินการสำรวจปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นได้รับแจ้งมาว่ามีประมาณ 400 คัน และอาจมีมากกว่านี้ จึงได้กำชับให้เทศกิจดำเนินการสำรวจเพิ่มเติม

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการจอดทิ้งซากรถยนต์สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ฝ่ายเทศกิจทุกสำนักงานเขต ซึ่งหากมีการจับปรับเกิดขึ้น ประชาชนผู้แจ้งจะได้ส่วนแบ่งค่าปรับดังกล่าว เหมือนกับการแจ้งเบาะแสการขับขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นบนทางเท้า

อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายได้ระบุให้มีกาบหาเจ้าของซากรถยนต์ก่อน โดยจะทำการติดประกาศ 15 วัน หากไม่พบเจ้าของ กรุงเทพมหานครจะนำไปเก็บรักษาไว้ในที่ที่สำนักงานเขตจัดไว้ โดยเขตสวนหลวงได้กำหนดสถานที่จัดเก็บซากรถยนต์บริเวณใต้ทางด่วนศรีรัช ถ้ามีเจ้าของมาติดต่อในอนาคตจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ หากไม่มีเจ้าของมาติดต่อจะจัดเก็บซากรถยนต์ไว้ประมาณ 6 เดือน และเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการเขตในการขายทอดตลาดซากรถยนต์ดังกล่าว

สำหรับอัตราการเปรียบเทียบปรับ ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 18 ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้ง วาง หรือกองซากยานยนต์บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ และบทกำหนดโทษ มาตรา 56 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่จะต้องมีการหารือกับเจ้าหน้าที่เทศกิจว่าจะกำหนดอัตราเปรียบเทียบปรับเท่าไร โดยอาจจะเริ่มต้นที่ 1,000 บาท 2,000 บาท 3,000 บาท หรือ 5,000 บาท จะต้องมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง ทั้งนี้ ภารกิจการจัดระเบียบการจอดทิ้งซากรถยนต์จะเป็นภารกิจที่จะดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป เพราะซากรถยนต์ต่าง ๆ ก่อให้เกิดปัญหาด้านการจราจร และปัญหาด้านความปลอดภัย รถยนต์บางคันจอดนานจนต้นไม้ขึ้น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หรืออาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย เกิดการก่อวินาศกรรม ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ทยอยจัดเก็บซากรถยนต์ไปแล้วประมาณ 70 คัน และจะพยายามเร่งจัดเก็บให้ครบ 400 คัน

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังต้องมีการหารือกับตำรวจนครบาล ตำรวจจราจร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกกฎหมายเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บค่าจอดรถในที่จอดรถ ค่าใช้จ่ายในการ
ใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถ ค่าเคลื่อนย้ายรถ และค่าดูแลรักษารถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการแบ่งพื้นที่ในการควบคุมดูแลและการจัดเก็บค่าปรับ โดยในอนาคตสำนักเทศกิจจะเป็นหน่วยงานหลักในการหาพื้นที่กลางสำหรับจัดเก็บซากรถยนต์

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน