เกษตรกรยับเจอพายุซินลากูเท

“เฉลิมชัย” สั่งทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “ซินลากู”

5ส.ค.63/ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ว่า จากสถานการณ์พายุ ซินลากู ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2563 ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งขณะนี้แม้ว่าพายุซินลากูได้อ่อนกำลังลง แต่ยังส่งผลให้มีฝนตกหนักบางพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

สำหรับเรื่องนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนทันที โดยเฉพาะกรมชลประทาน กรมปศุสัตว์ กรมประมงและ กรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัยเรื่องพายุซินลากูโดยให้ทุกหน่วยพร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชน

ด้านนายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน แถลงว่า จากการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น พบว่า อิทธิพลของพายุซินลากูทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 1 – 4 สิงหาคม 2563 รวม 25 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์

ตามด้วย กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู สุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ นครราชสีมา ขอนแก่น เลย นครพนม มหาสารคาม ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี

ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ นครราชสีมา ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม หนองบัวลำภู พังงา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช เหลือเพียง 5 จังหวัดที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และจังหวัดเลย โดยได้รับผลกระทบด้านการเกษตร แบ่งเป็น ด้านพืช 10 จังหวัด ได้แก่

จังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ น่าน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน เลย ชุมพร สุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกร 6,366 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 38,233.50 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 18,904.50 ไร่ พืชไร่ 9,986 ไร่ พืชสวน 9,343 ไร่

ด้านประมง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา เลย นครพนม และจังหวัดหนองบัวลำภู เกษตรกร 1,396 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ บ่อปลา 1,137.25 ไร่

ด้านปศุสัตว์ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย น่าน ลำปาง เกษตรกร 480 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 6,801 ตัว ได้แก่ โค-กระบือ 230 ตัว สุกร 76 ตัว สัตว์ปีก 6,495 ตัว

ส่วนการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการกรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 29 เครื่อง ได้แก่ เชียงใหม่ 2 เครื่อง ขอนแก่น 20 เครื่อง กาฬสินธุ์ 2 เครื่อง ร้อยเอ็ด 5 เครื่อง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และบุคลากรไว้พร้อมรับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด สามารถช่วยเหลือได้ทันที เพื่อเร่งการระบายน้ำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะเดียวกัน ในส่วนกรมปศุสัตว์ ได้เตรียมเสบียงสัตว์แห้งสำรอง 5,612.60 ตัน เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ ทีมสัตวแพทย์และผู้ช่วย สัตวแพทย์ โดยได้แจกจ่ายเสบียงสัตว์ไปแล้ว 2,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ อ.เมืองเลย จ.เลย

สำหรับสถานการณ์น้ำ (ข้อมูล 5 ส.ค. 63) สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 30,420 ล้าน ลบ.ม. (43% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 7,120 ล้าน ลบ.ม. (15% ของความจุน้ำใช้การ)

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง จำนวน 30 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่กวงอุดมธารา กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน แม่มอก ห้วยหลวง น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำปาว ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง สิรินธร ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ์ ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ ประแสร์ นฤบดินทรจินดา แก่งกระจานและปราณบุรี มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างและระบาย ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง (1 พ.ค.63 – ปัจจุบัน) ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 3,915.04ล้าน ลบ.มปริมาณน้ำระบายจากอ่าง 6,308.41 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนด้านสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 7,535 ล้าน ลบ.ม. (30% ของความจุอ่างฯ) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 839 ล้าน ลบ.ม. (5% ของความจุน้ำใช้การ) และปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 120.45 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจากอ่าง 5.76 ล้าน ลบ.ม.
​​
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุซินลากู แต่ก็ส่งผลดีต่อเกษตรกรในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนสิริกิติ์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (4 ส.ค. 63) มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 180 ล้าน ลบ.ม. และในวันนี้ (5 ส.ค. 63) มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 112 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน เตรียมบริหารจัดการน้ำโดยอาศัยกลไกระบบชลประทาน จะทำการส่งน้ำแก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทาน บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกให้ได้ให้มากที่สุด

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน