พิษโควิด-19เยียวยาเกษตรกร 3 เดือน”เกษตร”จ่ายไปแล้ว1.2แสนล้านบาท

“เฉลิมชัย” พอใจโครงการเยียวยาเกษตรกรเดินหน้าตามเป้าหมาย 3 เดือนจ่ายไปแล้ว 1.2 แสนล้าน ด้านสศก. โชว์ผลติดตาม เกษตรกรดีใจ นำเงินลงทุนทางการเกษตร ใช้จ่ายครัวเรือนบรรเทาความเดือดร้อนได้เพียงพอ

5ส.ค.63/นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การติดตามประเมินผลโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ทำหน้าที่นายทะเบียน รวบรวม และจัดทำระบบคัดกรองที่ถูกต้อง

สศก. ได้ทำการตรวจสอบความซ้ำซ้อนข้อมูล และส่งรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ฯให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563

“กระทรวงเกษตรฯ โดย สศก. ได้จัดส่งรายชื่อเกษตรกรที่ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูลกับโครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ข้าราชการบำนาญของกรมบัญชีกลาง และระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม ให้ ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร (ข้อมูล ณ 31 ก.ค.63) รวมทั้งสิ้น 7,747,490 ราย

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ตั้งแต่ 15 พ.ค. – 31 ก.ค. 63 รวม 3 งวด จำนวน 112,126.730 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.48 ของเป้าหมาย 116,212.35 ล้านบาท แบ่งเป็น

งวดที่ 1 จำนวน 7,486,705 ราย จำนวนเงิน 37,433.525 ล้านบาท

งวดที่ 2 จำนวน 7,472,114 ราย จำนวนเงิน 37,360.570 ล้านบาท

งวดที่ 3 จำนวน 7,466,527 ราย จำนวนเงิน 37,332.635 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายอลงกรณ์ กล่าวว่า มีเกษตรกรที่ยังไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรได้ เนื่องจากไม่ได้แจ้งเลขบัญชี ขณะนี้ได้เร่งให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามเกษตรกรเพื่อส่งเลขบัญชีให้กับ ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร โดยดำเนินการหลายช่องทาง เช่น ติดประกาศ ณ หน่วยงานในพื้นที่ โทรศัพท์แจ้งเกษตรกรโดยตรง รวมทั้งส่งรายชื่อให้กับผู้นำชุมชนเพื่อไปแจ้งเกษตรกรต่อไป

สำหรับเกษตรกรกลุ่มสุดท้าย ที่ได้แจ้งความจำนงเพาะปลูกและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม และเพาะปลูกพืชก่อนวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งมีจำนวน 38,737 ราย กลุ่มนี้จะได้รับเงินครั้งเดียว 15,000 บาท ภายในเดือนสิงหาคมนี้

ส่วนผลการอุทธรณ์ มีเกษตรกรที่มาขอยื่นเรื่องอุทธรณ์เยียวยาของทั้ง 8 หน่วยงาน โดยตรวจสอบความถูกต้องและซ้ำซ้อนแล้ว คงเหลือ 189,645 ราย

ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า มีเกษตรกรที่เข้าหลักเกณฑ์ที่สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ จำนวน 70,338 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบสิทธิ์อีก 269 ราย ซึ่งคาดว่าจะจ่ายเงินได้เช่นกัน

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงผลการติดตามประเมินผลโครงการฯ ว่า สศก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้สำรวจข้อมูลในระหว่างเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม 2563 พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 99 พึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก มีเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่พึงพอใจเนื่องจากยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการ และอยู่ระหว่างอุทธรณ์ เกษตรกรร้อยละ 96 เห็นว่าจำนวนเงินช่วยเหลือ เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อน มีเพียงร้อยละ 4 ที่เห็นว่าจำนวนเงินที่ได้รับไม่เพียงพอ เนื่องจากความเสียหายจากการทำการเกษตรมีมากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้

สำหรับเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือ มีการนำเงินไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยเกษตรกรจะนำไปลงทุนทางการเกษตร เช่น ซื้อพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ปุ๋ย และซ่อมแซมโรงเรือน เป็นอันดับแรก ที่เหลือนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ลงทุนนอกการเกษตร เช่น ซื้อสินค้าไปจำหน่ายต่อ และนำไปชำระหนี้สิน/จ่ายค่าเช่า รวมทั้งนำไปใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าซ่อมแซมบ้าน ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานเก็บออม

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดทำระบบฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมที่ดิน ส.ป.ก. จะทำให้การดำเนินงานอื่นๆ หรือการปรับปรุงข้อมูลของหน่วยงานมีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ การตรวจสอบคัดกรองข้อมูล จะดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

อีกทั้งหากมีการประชาสัมพันธ์ไปทางกระทรวงมหาดไทย ที่สามารถเข้าถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ทั่วถึงและรวดเร็วกว่า จะช่วยให้การดำเนินงานโครงการได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สร้างความตระหนักให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อได้รับการช่วยเหลือในโครงการต่างๆ

นอกจากนี้ เกษตรกร ได้ให้ข้อคิดเห็นถึงรูปแบบในการช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ หรือเหตุการณ์อื่น โดยต้องการให้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นลำดับแรก รองลงมาคือ การจัดหาตลาด ช่วยกระจายผลผลิตของเกษตรกร การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือ อาหารสัตว์ จัดอบรมให้ความรู้ เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบการเกษตรได้ และช่วยด้านระบบชลประทาน หรือจัดหาแหล่งน้ำ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการเพาะปลูก และลดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สศก.จะมีการสำรวจข้อมูลเพื่อประเมินผลอีกครั้งเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้ว
​​
สุดท้ายนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังขอบคุณทุกหน่วยงานรวมทั้งคณะรัฐมนตรีแทนเกษตรกรทุกคน ที่ช่วยสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ ในการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนลุล่วงคืบหน้าด้วยดีโดยให้กำลังใจทุกฝ่ายดำเนินก่อนต่อจนแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน