รถไฟฟ้าสายสีทองเปิดธ.ค. 63 ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

กรุงเทพมหานคร มอบของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน เดือน ธ.ค.นี้ พร้อมเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย เผยรถไฟฟ้าล้อยางไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย เสริมโครงข่ายการเดินทางฝั่งธนบุรี เชื่อมย่านธุรกิจสำคัญ กระตุ้นท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19

8 ต.ค.63/สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานครแจ้งว่าพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีกรุงธนบุรี-สถานีสำนักงานเขตคลองสาน) โดยมี ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และผู้บริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานีกรุงธนบุรี เขตคลองสาน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2561

ขณะนี้การก่อสร้างและติดตั้งระบบในภาพรวมมีความก้าวหน้า 96 % แบ่งออกเป็นความก้าวหน้างานโยธา 98 % และความก้าวหน้างานระบบการเดินรถ 92 %

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การจัดส่งขบวนรถและอุปกรณ์ต่างๆ ล่าช้า รวมทั้งมีการปรับปรุงแบบทางขึ้นลงสถานีให้ตรงตามความต้องการของชุมชน ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน ต.ค.63 เป็นเดือน ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ หลังจากที่สถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายได้รับมอบขบวนรถในโครงการมาครบแล้ว ทั้ง 3 ขบวน และขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถในเส้นทาง ซึ่งผลการทดสอบเป็นไปตามแผน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้กลางเดือน ธ.ค.63

สำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะประชาชนในย่านฝั่งธนฯ ที่จะมีทางเลือกในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณสถานีคลองสาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลตากสิน สำนักการศึกษา สำนักงานเขตคลองสาน และสน.ปากคลองสาน จะช่วยให้การเดินทางมาติดต่อราชการของประชาชนสะดวกมากขึ้น โดยรถไฟฟ้าสายสีทองยังเชื่อมต่อการเดินทางระบบ ล้อ ราง เรือ รองรับผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงในอนาคต รวมทั้งยังเชื่อมการเดินทางของประชาชนที่ใช้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

นอกจากนี้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าดังกล่าวยังช่วยเพิ่มมูลค่าของที่ดินบริเวณแนวรถไฟฟ้า เสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ และจะเป็นจุดไฮไลท์อีกแห่งหนึ่งที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ได้ทางหนึ่งด้วย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ แต่ใช้รายได้ล่วงหน้าจากการให้สิทธิพื้นที่โฆษณาบนรถไฟฟ้ามาลงทุนก่อสร้างโครงการ เป็นรูปแบบการแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนากรุงเทพฯ ไปด้วยกัน จึงทำให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็ว ไม่ต้องรอกระบวนการวิธีงบประมาณจากทางภาครัฐ และทรัพย์สินในโครงการนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานครทั้งหมด ขอยืนยันว่าโครงการนี้ เป็นความตั้งใจดีที่ กทม. มอบแก่ให้ประชาชน

สำหรับปัญหาการใช้ผิวการจราจรในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง ปัจจุบันนี้การก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้านั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ที่มีการก่อสร้างคือการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคซึ่งได้เร่งรัดการดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด พร้อมกำชับให้สำนักงานเขตเร่งประสานเปิดพื้นที่การจราจรลดผลกระทบต่อผู้สัญจรในเส้นทางให้มากที่สุด

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง มีระยะทางรวม 2.75 กิโลเมตร 4 สถานี วิ่งตามแนวถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนครและถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

ปัจจุบันเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีเจริญนคร (G2) และสถานีคลองสาน (G3) ระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบ Automated Guideway Transit (AGT) หรือระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ หรือรถไฟฟ้าระบบ Automated People Mover (APM) เป็นระบบล้อยาง

อย่างไรก็ตาม รถที่นำมาใช้เป็นรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 ความเร็วสูงสุดที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จำนวน 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 138 คน/ตู้ ตู้รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 42,000 เที่ยว-คน/วัน

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน