กรมประมงชวนร่วมงานลอยกระทงสไตล์ “ New Normal ”สร้างระยะห่างกัน COVID – 19 เลือกใช้วัสดุย่อยสลายง่าย ลดขยะ รักษ์สัตว์น้ำ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีมานี้ตลาดนิยมทำกระทงจากวัสดุอาหารสัตว์น้ำบางชนิด เช่น ขนมปัง ข้าวโพดย้อมสี กรวยไอศครีม เนื่องจากมีความคิดว่าเมื่อลอยเสร็จแล้วกระทงเหล่านั้นจะเป็นอาหารให้กับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นต่อไปได้ ความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่ดีแต่อย่างไรก็ตามควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง
ที่สำคัญไม่ควรนำกระทงไปลอยในแหล่งน้ำปิด เช่น สระน้ำวัด สระน้ำในสถาบันการศึกษา เพราะหากในแหล่งน้ำไม่มีสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำกินไม่หมดก็จะเกิดการตกตะกอนหมักหมม ส่งผลทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียและอาจทำให้สัตว์น้ำตายได้ อีกทั้งปลาที่จะกินอาหารเหล่านี้มีเพียงปลากินพืชเท่านั้น ปลากินเนื้อ อาทิ ปลาดุก ปลาช่อน ฯลฯ ก็จะไม่กินอาหารเหล่านี้ ดังนั้นหากต้องเลือกใช้กระทงเหล่านี้ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ควรเลือกแหล่งน้ำเปิดที่เหมาะสม กรณีเลือกกระทงควรเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ สามารถเก็บขึ้นไปกำจัดได้ทัน หลีกเลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก และ โฟม และวัสดุที่หลากหลายเกินไปเพื่อลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด
นอกจากนี้ควรลดขนาดกระทงให้เล็กลงเพราะจะใช้วัสดุน้อยกว่า และหากมาลอยกระทงเป็นครอบครัวหรือคู่รัก ขอให้ใช้กระทงร่วมกันเพียง 1 กระทงเพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันและเป็นการช่วยกันลดปัญหาดังกล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปีนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 กรมประมงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกท่าน ขอให้ท่านสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างให้เหมาะสม และพกแอลกอฮอล์เจลพร้อมหมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และหากไม่สะดวกเดินทาง “การลอยกระทงออนไลน์” ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ประชาชนเลือกใช้ในการสืบสานประเพณีไทยในแบบไม่สร้างขยะให้กับแหล่งน้ำและห่างไกลจากเชื้อไวรัส COVID – 19 ได้อีกด้วย
สุดท้าย ขอฝากถึงประชาชน พ่อค้าแม่ค้า ให้เลือกใช้วัสดุทำกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรณีต้องใช้สีในการตกแต่งกระทงควรใช้สีผสมอาหารไม่ใช้สีที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและแหล่งน้ำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวไทยร่วมใจกันสืบสานประเพณีไทยด้วยความตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย
ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสำคัญของประเทศไทยที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ตามคติความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่นเชื่อว่าเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในแหล่งน้ำเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด เชื่อว่าเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เชื่อว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ รวมถึงเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ ลอยความทุกข์ ออกจากตนเอง
งานลอยกระทงจึงเป็นหนึ่งในประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย โดยในวันงานประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างออกมาร่วมลอยกระทงริมฝั่งของแม่น้ำและลำคลองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงนี้เราไม่อาจสามารถปฏิเสธได้ว่ามีอีกมิติที่ต้องคำนึงถึงนั่นคือการร่วมสร้างขยะที่ยากต่อการย่อยสลายปริมาณมากในวันถัดไป
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน