“สภาเอสเอ็มอี”ร่วมกับ”สถาบันสร้างไทย”จัดสัมมนาเสนอทางออก SMEs หลัง COVID-19

สภาเอสเอ็มอีร่วมกับสถาบันสร้างไทยส่งเสียงเสนอทาองออกของ SMEs ถึงภาครัฐ ฝ่าวิกฤต COVID-19 สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs อย่างยั่งยืน
5 พฤศจิกายน 2563 สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย(สภาเอสเอ็มอี) ร่วมกับ สถาบันสร้างไทย จัดงานสัมมนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤต SMEs ไทย จุดเปลี่ยนทางรอดและทางออก” ณ เบนซ์ทองหล่อคลับ ชั้น 5 โชว์รูมเบนซ์ทองหล่อ กรุงเทพมหานคร โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ 1) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 2) รศ.ดร.โภคิน พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน 3) นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย และ 4) ดร.ศุภชัย แก้วศิริ รองประธานอาวุโสสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ดำเนินรายการโดย นางสาวลักขณา ปันวิชัย โดยมีผู้แทนองค์การ SMEs เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ที่ผ่านมา สภาเอสเอ็มอีได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งนับได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณามาตรการช่วยเหลือและเยียวยาโดยไม่อิงกับกฎหมายในสถานการณ์ปกติ ซึ่งสภาเอสเอ็มอีได้นำเสนอแนวทางและมาตรการช่วยเหลือ SMEs ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไว้และยังไม่ได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยภาครัฐ ดังนี้
มาตรการระยะสั้น (ระยะเร่งด่วนทันที)
1.นำเงินประกันสังคมที่ผู้ประกอบการและลูกจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนออกมาช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง โดยอาจกำหนดเป็นสัดส่วนจากประวัติการจ่ายเงินเข้ากองทุน
2.พิจารณายืดหยุ่นเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าธนาคารเดิมที่มีประวัติการชำระปกติ กลุ่มที่เป็น NPL และ/หรือปรับโครงสร้างหนี้ และกลุ่มที่ต้องการขอสินเชื่อรายใหม่ บนพื้นฐานที่ว่าเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ โดยมีผู้ประกอบการกว่า 300,000 ราย จาก 468,000 ราย ที่อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจาก พ.ร.ก.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย 500,000 ล้านบาท
3.กำหนดให้มีการแบ่งสัดส่วนวงเงินของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากฯ 400,000 ล้านบาท ลงไปที่วิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากหญ้าตัวแรกเพื่อนำไปดำเนินธุรกิจ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก
4.ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงด้านการตลาดระหว่างจังหวัดทั้งการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้า “ไทยเที่ยวไทย ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ“
ระยะถัดไป (ภายใน 3 เดือน)
1.เสนอให้มีการออก พ.ร.ก.สภาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (สภาเอสเอ็มอี) เพื่อเป็นองค์การที่เป็นศูนย์รวมและตัวแทนของ SMEs ภาคเอกชนที่กฎหมายรับรอง เข้ามาดำเนินการบริหารกองทุน SMEs ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุน และแก้ไขปัญหาที่เป็น Pain Point ของ SMEs ตามโมเดล SMEs Smart Province ที่สภาเอสเอ็มอีพัฒนาขึ้น ทั้งด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การตลาด และองค์ความรู้และนวัตกรรม
2.เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบกองทุน SMEs ที่บริหารโดยภาคเอกชน โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน เพื่อดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs กลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ 1) กลุ่ม SMEs 2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ 3) กลุ่ม Startup
WC รายงาน