มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“มนัญญา” เผย(ร่าง) ประกาศกระทรวงเกษตรฯ ควบคุมการผลิตและบรรจุสารเคมีทางการเกษตรจัดทำเรียบร้อยแล้ว สั่งกรมวิชาการเกษตรนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอ “รมว. เฉลิมชัย” ลงนาม ย้ำเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ทำงานในโรงผลิต ผู้ใช้ แลผู้บริโภค รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ส่ง (ร่าง) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. ….มาให้แล้ว โดยสาระสำคัญคือ กำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายต้องได้การรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตราย ซึ่งได้รับการรับรองจากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย
ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากพืช สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้ว จะให้เวลาปรับปรุงแก้ไข 2 ปี อาคารผลิตและเก็บรักษาวัตถุอันตรายที่มากกว่าสองชั้นขึ้นไปต้องมีบันไดหนีไฟ ผนังต้องใช้วัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดการลุกลามของ พื้นอาคารต้องไม่มีคุณสมบัติดูดซับวัตถุอันตราย สามารถป้องกันการรั่วไหลของวัตถุอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการระบายอากาศที่เหมาะสม ต้องแบ่งแยกพื้นที่ผลิตและเก็บวัตถุอันตรายแต่ละประเภทเป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันการปะปนกัน มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่บ่อพักเพื่อนำไปบำบัด
อย่างไรก็ตาม สำหรับการป้องกันอันตรายสำหรับผู้ปฏิบัติงานนั้น กำหนดให้ต้องมีเสื้อผ้าชุดปฏิบัติงาน ถุงมือ รองเท้า หมวก หน้ากากป้องกันพิษ ตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันอันตรายจากการมีวัตถุอันตรายสะสมอยู่ในร่างกาย ถ้าผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่มีสารประกอบในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟสหรือคาร์บาเมตต้องตรวจหาระดับซีรัมโคลีนเอสเตอเรสด้วย พร้อมจัดทำทะเบียนประวัติสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานและหากตรวจพบวัตถุอันตรายสะสมในร่างกายจนถึงระดับอันตราย ต้องจัดให้ผู้นั้นได้รับการรักษาหรือไปปฏิบัติงานอื่นตามความเหมาะสม
น.ส. มนัญญากล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้ยังกำหนดให้ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย โดยการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพ อัตราส่วนความเข้มข้นของสารสำคัญให้ถูกต้องก่อนบรรจุภาชนะ ตรวจสอบฉลากที่จะปิดบนภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ผู้ผลิตวัตถุอันตรายจำกัดการใช้ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิตให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ทราบภายในวันถัดจากวันที่มีการผลิตประกอบด้วย กระบวนการการตั้งแต่เริ่มนำสารชนิดเข้มข้นมาแปรรูปโดยใช้ส่วนผสมต่างๆ เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นสารพร้อมใช้ แจ้งชนิดของส่วนผสม รายงานเกี่ยวกับภาชนะบรรจุที่ใช้แล้วซึ่งมีอยู่ในความครอบครอง การส่งไปทำลาย สถานที่ทำลายและวิธีการทำลาย โดยจะต้องส่งรายงานดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเดือนมกราคมทุกปี ในกรณีที่หากสอบสวนพบว่า เกิดข้อบกพร่องที่มีผลต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือเกิดอันตรายต่อ ผู้บริโภคต้องเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคืนอย่างรวดเร็ว มีบันทึกการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืนจากลูกค้าแต่ละราย ตลอดจนให้แยกเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืนไว้ในบริเวณเฉพาะที่ปลอดภัย
“สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรนำเสนอ (ร่าง) ประกาศกระทรวงฯ นี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งต่อไปเพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนาม หรือลงนามเอง หากได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมั่นใจว่า เป็นกฎหมายที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ผลิต ผู้ใช้ และผู้บริโภค รวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” น.ส. มนัญญากล่าว
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน