‘ประภัตร’ นำคณะลุยนครปฐม แจงเตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ดันเกษตรสร้างชาติ สู้ภัยแล้ง
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง (เกษตรสร้างชาติ) ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นายขจรเกียรติ รักพาณิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรใน 7 อำเภอ จาก จ.นครปฐม กว่า 1,000 คน เข้าร่วม ณ ห้องคอนเวนชั่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างรุนแรง และถูกประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว ทั้งภาคเหนือ และภาคอิสาน ตลอดจนกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ไทยจะเผชิญกับภาวะฝนแล้งไปจนถึง มิ.ย. 2563 ส่วนช่วงต้นปีฝนจะตกต่ำกว่าค่าปกติ 3-5% รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ อีกทั้งยังขาดโอกาส การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ จึงได้มีโครงการดังกล่าวขึ้น ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อชี้แจงโครงการให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้เข้าร่วมโครงการฯ ถือปฏิบัติร่วมกัน ตลอดจนเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์ มีผลสัมฤทธิ์ สามารถสร้างรายได้และมีอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน ซึ่งได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี
นายประภัตร บอกด้วยว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการตลาด ผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ และไก่พื้นเมือง รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยรัฐบาลมีประกันราคาและตลาดรองรับ ตลอดจนมีคอกกลางรวบรวมสัตว์ต่างๆ ที่ส่งเสริมเพื่อส่งออก ซึ่งเกษตรกรจะต้องจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ภายในงานหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมชี้แจงโครงการฯ ให้พี่น้องเกษตรกรได้รับทราบ เข้าใจ รวมถึงสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต่างๆ ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครปฐม สามารถส่งเสริมอาชีพได้หลากหลาย ทั้งด้านประมง ด้านปศุสัตว์ อาทิ ส่งเสริมการเลี้ยงโค แพะ แกะ สุกร เป็ด ไก่ ฯลฯ โครงการต่างๆ นั้นหน่วยงานภาครัฐร่วมบูรณาการให้การสนับสนุน เช่น บ่อบาดาลเพื่อการเกษตร อาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ พร้อมทั้งการให้ความรู้แก่เกษตรกร
สำหรับ จ.นครปฐม มีพื้นที่ทั้งหมด 1.35 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 796,662 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 58.78 ของพื้นที่ มีพื้นที่ทำนาปี 334,211 ไร่ ทำนาปรัง 199,203 ไร่ พืชไร่ 80,668 ไร่ มีเกษตรกรทำการประมงจำนวน 8,390 ราย พื้นที่ทำการประมง 90,153.14 ไร่ ส่วนอาชีพเลี้ยงสัตว์ ประกอบด้วย เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ 2,170 ราย โคเนื้อ 39,976 ตัว เกษตรกรเลี้ยงกระบือ 29 ราย กระบือ 288 ตัว เกษตรกรเลี้ยงแพะ-แกะ 132 ราย แพะ-แกะ 9,067 ตัว และเกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมือง 11,413 ราย ไก่พื้นเมือง 1,078,933 ตัว
ขณะเดียวกันนายประภัตร ยังบอกอึกว่าสำหรับสถานการณ์น้ำ จ.นครปฐมใช้น้ำจาก 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 28% และลุ่มน้ำแม่กลอง 72% โดยมีสถานการณ์ ดังนี้ 1. ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก รวม 10,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% ปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้ได้ 4,093 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23% และ 2. ลุ่มน้ำแม่กลอง ปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนหลัก (เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ) รวม 21,639 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้ได้ 8,362 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนช่วงตอนบนของจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนตอนล่างของจังหวัดอยู่ในระดับน้อย โดยมีบางช่วงเวลาระดับน้ำสูงขึ้นและต่ำลงเป็นช่วงๆ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเล สำหรับค่าความเค็มของแม่น้ำท่าจีนในเขตจังหวัดนครปฐมอยู่ในเกณฑ์ปกติ
กัลฑภรณ์ สุขเย็น รายงาน