ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน
กรมชลฯควบคุมเข้มค่าความเค็มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำทะเลหนุน คาดหนุนสูงสุดพรุ่งนี้ (25 ม.ค.) เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ควบคู่กับปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ให้สัมพันธ์กับจังหวะน้ำขึ้น-น้ำลง มั่นใจ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและทุกภาคส่วน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า วันทีา25 ม.ค.63 น้ำทะเลจะหนุนสูงสุดอีกครั้งของเดือนมกราคม แต่ระดับน้ำทะเลจะไม่สูงเท่าช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ได้เตรียมป้องกันและเฝ้าระวังค่าความเค็มของน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาจาก 75 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาทีเป็น 90 ลบ.ม. ต่อวินาทีตั้งแต่วันที่ 22 เป็นต้นมา โดยจะระบายในอัตรานี้ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 26 ม.ค. จากนั้นจะระบายที่ 80 ลบ.ม. ต่อวินาทีระหว่างวันที่ 26-28 ม.ค. และตั้งแต่วันที่ 29 จะคงอัตราการระบายที่ 75 ลบ.ม. ต่อวินาทีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผน
สำหรับการระบายจากเขื่อนเจ้าพระยามาในอัตราที่สูงขึ้นนั้นทำได้เพราะได้ระบายน้ำจากเขื่อนหลัก 4 เขื่อนคือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มขึ้นมาก่อนหน้า นอกจากนี้ยังผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำท่าจีน ผ่านคลองพระยาบันลือและคลองพระพิมล โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำให้ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยเร็ว ติดตั้งกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำที่คลองปลายบาง บริหารจัดการน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ตามจังหวะขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมกันนี้ประสานกับสำนักงานการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครหยุดสูบระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำทะเลขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำคุณภาพต่ำไหลย้อนขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน
ทั้งนี้จากการตรวจวัดค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแล ปทุมธานีตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเที่ยงวันนี้ (24 ม.ค.) ค่าความเค็มอยู่ที่ 0.19 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าอัตราที่มีผลต่อการผลิตน้ำประปาคือ 0.5 กรัมต่อลิตร อัตราที่มีผลต่อการเพาะปลูก
กล้วยไม้คือ 0.75 กรัมต่อลิตร และอัตราที่มีผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมคือ 5 กรัมต่อลิตรซึ่งมั่นใจว่า วันพรุ่งนี้ซึ่งน้ำทะเลหนุนสูงสุดจะยังคงควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุกภาคส่วนได้แน่นอน
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน