อนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปลัดเกษตรนั่งหัวโต๊ะ Egg Board พิจารณาจัดสรรโควตาการเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ปี 63 เห็นชอบให้โควต้าผู้ประกอบการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ และไก่ยืนกรงเท่าปี 62 ย้ำกรมปศุสัตว์ควบคุมปริมาณไก่ไข่ทั้งประเทศอย่างเข้มงวด ป้องกันไข่ไก่ล้นตลาดจนราคาตกต่ำ เตรียมเสนอครม. พิจารณาเห็นชอบ
29ม.ค.63/นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ให้เป็นประธานการประชุม Egg Board เพื่อพิจารณาจัดสรรโควตาการเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ ปี 2563
อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการ Egg Board หารือร่วมกับผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ คณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง มีมติเห็นชอบแผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ ปี 2563 เท่ากับการเลี้ยงในปี 2562 กำหนดให้เลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) 3,800 ตัว และพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) 460,000 ตัว โดยจัดสรรโควตาให้ผู้ประกอบการก่อน 440,000 ตัว
ส่วนอีก 20,000 ตัว ให้กันไว้ที่กรมปศุสัตว์ แล้วค่อยนำมาพิจารณาอีกครั้ง หากมีแนวโน้มขาดแคลนพันธุ์สัตว์ สำหรับแม่ไก่ยืนกรงมีรวมทั้งประเทศ 48-50 ล้านตัว ได้ผลผลิตไข่ไก่วันละ 40-42 ล้านฟองซึ่งเป็นปริมาณที่สมดุลกับความต้องการบริโภคในประเทศ ส่งออกเป็นไข่สด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ทั้งนี้นายอนันต์ได้กำชับให้กรมปศุสัตว์ตรวจสอบการเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์และแม่ไก่ยืนกรงให้เป็นไปตามโควตา ป้องกันการเลี้ยงในปริมาณที่มากเกิน จะส่งผลให้ไข่ไก้ล้นตลาดและประสบปัญหาราคาตกต่ำ
ปัจจุบันราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.70 บาท ลูกไก่ไข่ตัวละ 28 บาท ไก่ไข่รุ่นตัวละ 150 บาท สำหรับปี 2562 มีปริมาณผลผลิตไข่ไก่ จำนวน 14,742 ล้านฟอง อัตราการบริโภค 220 ฟอง/คน/ปี มีการส่งออกไข่ไก่สด ปริมาณ 271.368 ล้านฟอง มูลค่า 765.512 ล้านบาท ตลาดหลักคือฮ่องกง คิดเป็นร้อยละ 90 ราคาขายส่งไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม เฉลี่ย 2.74 บาท/ฟอง เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ราคาเฉลี่ย 2.56 บาท/ฟอง ราคาลูกไก่ไข่ เฉลี่ย 21.63 บาท/ตัว ราคาไก่รุ่น ปี 2562 เฉลี่ย 141.02 บาท/ตัว ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ เฉลี่ยฟองละ 2.61 บาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2563 – 2567) เพื่อพัฒนาและบริหารจัดการไก่ไข่ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยให้ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกรเพื่อความเข้มแข็ง สร้างความสมดุลการผลิตไข่ไก่กับความต้องการบริโภคป้องกันการเกิดราคาไข่ไก่ผันผวน เพิ่มอัตราการบริโภคและส่งเสริมการแปรรูปไข่ไก่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานการผลิตไข่ไก่ให้ได้คุณภาพ โดยการการปรับมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับนั้นมอบหมายให้กรมปศุสัตว์และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการปรับมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับ
ขณะเดียวกันยังวางมาตรการดูแลให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ อีกทั้งปรับการเลี้ยงไก่ไข่ให้ได้รับมาตรฐานอื่นๆ ของกรมปศุสัตว์ด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์จะเร่งนำมาตรการทั้งหมดนี้เสนอครม. พิจารณาโดยเร็วที่สุด
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน