กระบี่ขับเคลื่อนไบโอดีเซลบี10 ชูโมเดลพลังงานชุมชนเข้มแข็ง

“บิ๊กป้อม” เกี่ยวก้อย “สนธิรัตน์” ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ ขับเคลื่อนนโยบายไบโอดีเซลบี10 จัดโซนนิ่งปาล์มน้ำมัน พัฒนาคุณภาพ หวังสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนเข้มแข็ง

29ม.ค.63/ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สนธิรัตน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ มุ่งขับเคลื่อนนโยบายไบโอดีเซลบี10 ครบวงจรคุมลักลอบ-เตรียมขึ้นทะเบียนเกษตรกรผลักดัน ‘ปาล์มคุณภาพ’อย่างยั่งยืนเพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนเข้มแข็งสร้าง สร้างความเชื่อมั่นนโยบายพลังงานเพื่อทุกคนสู่จังหวัดกระบี่

อย่างไรก็ตามจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายบี10 ทั้งระบบ หลังจากสร้างสมดุลให้ปาล์มน้ำมันมาแล้วในนโยบายแรก สำหรับก้าวต่อไปเตรียมนำเทคโนโลยีตรวจสกัดลักลอบนำเข้า CPO พร้อมเตรียมขึ้นทะเบียนเกษตรกรสวนปาล์มควบคุมพื้นที่ปลูก เพื่อยกระดับคุณภาพปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ มอบนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมเข้าร่วมปาฐกถาพิเศษ “บี10 สร้างสมดุลปาล์มน้ำมันสู่ความยั่งยืน” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ให้การต้อนรับ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวจะสร้างรายได้ชาวสวนปาล์มไม่ต่ำกว่า 5 – 6 พันล้านบาทต่อเดือน หลังราคาปาล์มสูงกว่า 7 บาท/กก. โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบาย “Energy For All” พลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ประชาชนต้องได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงาน โดยใช้กลไกด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร สนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำมันบนดินที่มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศไทย ผ่านนโยบายบี10

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่าเพื่อส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล และนโยบาย อี20 ส่งเสริมการใช้เอทานอลโดยเฉพาะบี10 ที่ได้ดำเนินการผลักดันให้เกิดการใช้เป็นน้ำมันดีเซลฐาน และจะจำหน่ายได้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปและคาดว่าจะส่งผลเป็นรูปธรรมชัดเจนช่วยสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันให้เกิดขึ้นจนราคาสูงเป็นประวัติการณ์จากราคาเริ่มต้นนโยบาย 3 บาท/กก. เป็นมากกว่า 7 บาท/กก.ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านนำเข้ามาซึ่งอาจมีปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) กระทรวงพลังงานจึงได้วางมาตรการป้องกันโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจวิเคราะห์เพื่อบ่งชี้แหล่งที่มาของ CPO เพราะแต่ละประเทศมีโครงสร้างทางเคมีที่ไม่เหมือนกัน เช่น พื้นดิน แร่ธาตุต่างๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ลักลอบนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะเร่งติดมิเตอร์ตรวจวัดปริมาณไบโอดีเซลทุกถังเก็บในคลังผู้ผลิตเพื่อติดตามแบบเรียลไทม์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ไตรมาส 2 ของปีนี้

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้วางมาตรการรักษาสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซลไม่ให้กระทบการใช้เพื่อบริโภคในประเทศ รวมถึงเสนอแนวคิดขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อควบคุมพื้นที่ปลูก ผลผลิตต่อไร่ให้มีคุณภาพ ซึ่งการรับซื้อปาล์มต่อไปจะรับซื้อจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก่อน ส่วนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนจะพิจารณาลำดับถัดไป

ทั้งนี้เกษตรกรต้องยกระดับการปลูกปาล์มให้มีคุณภาพ พัฒนาสายพันธุ์ที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้มากขึ้น ช่วยให้ราคามีเสถียรภาพ และอาจประกาศรับซื้อปาล์มล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เหล่านี้เป็นกระบวนการที่ผ่านการคิดล่วงหน้ามาแล้วว่า จะต้องวางมาตรการแก้ไขแบบครบวงจรทุกมิติ วันนี้เราสร้างสมดุลปาล์มโดยช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนปาล์มดีขึ้นเป็นขั้นแรก และขั้นต่อไปคือการป้องกันลักลอบนำเข้า CPO ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยตรวจจับ และหลังจากนั้นก็จะมีมาตรการต่อเนื่องอีกเพื่อแก้ไขได้ครบทั้งวงจร เกิดเสถียรภาพราคาแบบยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่มากกว่าแค่เรื่อง B10 เพราะได้แก้ไขปัญหาทั้งระบบของพืชพลังงานปาล์มน้ำมัน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เกษตรกรชาวสวนปาล์ม มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะยังได้เข้าร่วมประชุมรับฟังและเยี่ยมชมกิจการโรงสกัดน้ำมันปาล์มของบริษัท ป.พานิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2 จำกัด ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งบริษัทฯ มีกำลังการผลิต 75/90 ตัน FFB (ทะลายปาล์มสด) ต่อชั่วโมง โดยบริษัทฯ มีแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนผลิตชีวมวลที่เกิดจากการสกัดน้ำมันปาล์มมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากหม้อไอน้ำ ทำให้ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าในโรงงานได้เอง 100% ขณะเดียวกัน ยังมีการนำน้ำเสียจากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มเข้าสู่ระบบไบโอแก๊สเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้ขายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน