ชูคลองไทยพัฒนาเศรษฐกิจใต้ วาดฝันผ่าน5จว.สิเกา-ระโนด

เครือข่ายผู้นำทางความคิดชาวใต้ ระดมสมอง ชู “คลองไทย” หวังพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ วางแผนใช้งบฯลงทุน 4.4 ล้านล้านบาทผ่าน 5 จังหวัด เริ่มจาก “สิเกา-ระโนด”

ม.รังสิต จัดเสวนา “คลองไทย คุ้มค่าหรือไม่” ระดมสมอง นักวิชาการ สส. แลกเปลี่ยนทัศนะ ย้อนยอดีต อิสเทิร์นซีบอร์ดยุค ”ป๋าเปรม” นำปัญหา “คลองสุเอซ-ปานามา” เปรียบเทียบ ขณะ ”สุทธิชัย” ชี้ บทสรุป ต้องรวบรวมความ”กล้าหาญ”ตัดสินใจเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2563 เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการเสวนาหัวข้อ “คลองไทย คุ้มค่าต่อประเทศหรือไม่ “ ที่ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปิดการเสวนาว่า ได้ติดตามและศึกษา โครงการขุดคลองไทยมาเป็นเวลานาน โดยได้ร่วมลงพื้นที่จัดเวทีเสวนามาโดยตลอด ได้รวบรวมปัญหาและแนวโน้มความเป็นไปได้ และผลกระทบทุกๆด้าน มองว่าเป็นโครงการที่ดีและจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันเนื่องจากมีมูลค่าการลงทุนจำนวนมหาศาล ดังนั้นการลงมือดำเนินการโครงการขุดคลองไทย ต้องเป็นคนเก่ง คนกล้ากล้า และที่สำคัญต้อง ไม่โกง จึงประสบความเร็จอย่างแท้จริง

นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และ นักวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ บรรยายพิเศษ “คลองไทยนำไทยสู่เศรษฐกิจโลกและประเทศไทยได้อะไร โดยระบุว่า ปัจจุบันสมการค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ลดลงจากเดิม ร้อยละ 38 เหลือ ร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับผลิตผลมวลรวม หรือ จีดีพี ดังนั้นไทยต้องลงทุนเพิ่มเพื่อผลักดันเศรษฐกิจของชาติ โดยเปรียบเทียบถึงการลงทุนในโครงการ อิสเทิร์น ซีบอร์ด ยุค “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมชูสโลแกน “โชติช่วงชัชวาล” เป็นแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง และ พัฒนาเป็นระเบียงเศรษฐกิจ อีอีซี ในปัจจุบัน

นายสถิต กล่าวว่า การจะพัฒนาเศรษฐกิจด้ามขวานทองให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ต้องใช้โครงการขุด “คลองไทย” นำร่อง ซึ่งจะเพิ่มการลงทุน การจ้างงาน สร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ ทั้งรายใหญ่ และ รายย่อย ขึ้นมาพัฒนาท้องถิ่น อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อให้พ้นกับดัก ความยากจน ต้องให้ภาคเอกชนนำหน้า โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการ กฎหมายการลงทุนของภาครัฐนั้นสามารถทำได้เพียงแค่ ร้อยละ5เท่านั้น “ความคิดขุดคลองไทย มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และ รัฐกาล 4 แต่ยังทำไม่ได้สักที มีปัญหาหลายภาคส่วนมากระทบทั้ง ส่วนได้และ ส่วนเสีย”

นายสถิต กล่าวและย้ำว่า การขุดคลองไทย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือภาคการเกษตร ให้มีการลงทุนน้อยลง โดยเฉพาะด้าน โลจิสติกส์ หรือ การขนส่ง เพราะ “คลองไทย” จะช่วยลดระยะทาง การนำเข้าและส่งออก ผลิตผลการเกษตร จากเดิมที่ต้องใช้เส้นทางเดินเรือ อ้อมผ่านมหาสุมทรอันดามัน เข้าอ่าวไทย ผ่านทางช่องแคบ มะละกา แต่ เมื่อมีการขุด คลองไทย จะสามารถลัดเส้นทางได้อย่างมาก

นอกจากนี้ โครงการขุด คลองไทย ยังกระตุ้นการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยสำคัญ ให้นักท่องเที่ยวระดับบนจาก ยุโรป อเมริกา จากทะเลมัลดิฟส์ ที่ส่วนมาก จะเป็นเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เรือยอร์จ หรือ เรือขนาดเล็ก เข้ามาเมืองไทยเพิ่มขึ้น และย่อมส่งผลทำให้เกิด รายได้เพิ่มขึ้นตามมาในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผลดี ก็ต้องมีผลเสีย ตามมา โดยมีการศึกษาถึงผลกระทบด้านลบ หรือ ความเสี่ยงต่อโครงการ ขุดคลองไทย และ ได้สรุป การบริหารความเสี่ยง 5 ประการ คือ

1.ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นกับ ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

2.ทำลายระบบนิเวศน์ ในอ่าวไทย สัตว์ทะเล และ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาทิ ปะการัง พืชทะเล ฯลฯ

3.กระทบการประมงชายฝั่ง

4.ขาดความสมดุลระหว่าง สังคม และ สิ่งแวดล้อม

5.ความเสี่ยงด้านอธิปไตย

ทั้งนี้ นายสถิต ได้กล่าวถึงปัญหา ความเสี่ยงด้านอธิปไตย ประเด็นที่อ่อนไหว ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ พร้อมยกตัวอย่าง เทียบเคียงจาก การขุดคลองสุเอซ ที่ทำให้ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เกิดกรณีพิพาทอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับ การขุดคลอง ปานามา ที่ สหรัฐฯเข้ามามีบทบาท อย่างมาก ด้วยการขอซื้อ กิจการต่อจาก บริษัทขุดคลองจาก ฝรั่งเศส

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย และ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)กล่าวถึงแนวทางศึกษา ผลกระทบจากการขุดคลองไทย โดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย สภาผู้แทนราษฎร โดยหวังว่า การศึกษาครั้งนี้จะได้ข้อยุติครอบคลุมครบรอบด้าน ซึ่งพื้นฐานและพื้นที่ภาคใต้นั้น มีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนาครอบคลุม แต่การเติบโตในพื้นที่ภาคใต้ มีเพียง 2-3 จังหวัด จากแหล่งท่องเที่ยว หากมีการขุดคลองไทยก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ แต่การเติบโตด้านเกษตรกรรมพบว่า บางจังหวัดเติบโตไม่เพียงพอ ซึ่งบางจังหวัดเลือกที่จะรอคอยโครงการขนาดใหญ่ หรือ เมกกะโปรเจคส์ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการคลองไทย ที่สามารถสร้างงาน สร้างการเติบโตให้กับคนในพื้นที่ได้

“แต่ผลกระทบทั้งหลายในการดำเนินการให้รอบคอบ ต้องมีวิธีการในการควบคุมเช่นกัน อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม ผมสนับสนุนการศึกษา แต่ขอให้นำแนวทางการศึกษาในครั้งที่ผ่านๆมานำกลับมาทบทวนด้วย และ การขุดคลองไทย จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้อย่างยิ่งและต่อยอดการพัฒนาให้กับพื้นที่อื่นๆของประเทศต่อไป” รมช.มหาดไทย กล่าว

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ.วิสามัญศึกษาการขุดคลองไทย ผลของการศึกษาของ รัฐสภาเห็นชอบให้ขุดตามแนวคลองใหม่ เรียกว่า เส้นทางแนว 9 เอ เริ่มต้นจาก ทะเลอันดามันที่ อ.สิเกา อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ผ่าน อ.ทุ่งสง อ.ชะอวด อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช สู่ อ่าวไทย ที่ อ.ระโนด จ.สงขลา ความยาว 130 กม. กว้าง 50 กม.ลึก 35 เมตร โดยใช้งบประมาณ 4 ล้านล้านบาท คือ ตัวเลขที่ตั้งไว้ อันเป็นผลประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่ง การเวนคืนที่ดินจะต้องได้มากกว่าราคาเดิม6เท่าตัว ขณะเดียวกันยังหมายถึงผลประโยชน์โดยตรงกับฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะ กองทัพเรือ ต่อการใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ สามารถให้เรือดำน้ำ ผ่านเข้าออกได้อย่างสะดวก โดยในตอนท้าย นายพิเชษฐ์ เสนอให้ไทยชักชวนชาติในกลุ่มอาเซียนมาร่วมลงทุนโครงการขุดคลองไทยด้วย

ดร.วรศักดิ์ มหัทธโนบล จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยาย หัวข้อ “ขับจ้องมองคลองไทยอย่างไร” ระบุว่า ตนติดตามโครงการนี้มา 20 ปี เห็นว่า จีน ในฐานะชาติมหาอำนาจด้านการค้าโลก จะได้ผลประโยชน์จาก คลองไทยมากที่สุด แต่จีนไม่กล้าที่จะเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา โดยประกาศชัดว่า “ไม่มีนโยบายใดๆในเรื่องนี้” แต่ โดยพฤตินัย จีน เดินหน้ารุกมาตลอด และ อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของจีน คำตอบคือ ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งตนมองว่า จะไม่จบอย่างสันติ จีนกำลังทะเลาะกับอาเซียน และ ถ้าเกิดสงคราม คลองไทย จะกลายเป็น เส้นทางยุทธศาสตร์ของสงครามทันที

ดร.วรศักดิ์ ระบุว่า ข้อเท็จจริง จีนอยากให้เกิดการขุดคลอง ที่ คอขอดกระ เพราะ เป็น มีระยะสั้น และ จุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ดังนั้น กมธ.ศึกษาวิสามัญ ขุดคลองไทย ต้อง ควบคุมและคัดท้ายให้ดี ถึงจุดที่จะใช้เป็นพื้นที่ขุดคลอง ที่มีการเสนอให้เลือก ระหว่าง 5 เอ กับ 9 เอ ถ้าหาก เราเลือกจุดใด จุดนั้น ถ้าไม่ใช่ ยุทธศาสตร์การค้า ก็จะกลายเป็น ยุทธศาสตร์ทางสงคราม ด้วยเช่นกัน

นายสุทธิชัย หยุ่น ผู้ดำเนินรายการอิสระ กล่าบนเวทีเสวนาว่า โครงการใหญ่ต้องมีคน เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย กรณีของ “คลองไทย” ถือ ว่าเป็น สถานการณ์ที่ยาวนานมาก เป็นประวัติศาสตร์ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ระดมสมอง นักวิชาการ หาทางออกและสุดท้าย อยู่ที่ความกล้าหาญ การบริหารความเสี่ยง แล้ว หาข้อยุติให้ดีที่สุด

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน