กรมส่งเสริมการเกษตรจัดงานเทคโนโลยีการผสมเกสร เพิ่มผลผลิตลำไยด้วยผึ้ง ที่แปลงใหญ่ลำไย จ.เชียงใหม่ ตลอดจนส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงผึ้งในสวนลำไยเพื่อเก็บน้ำผึ้งจำหน่าย เพิ่มรายได้แก่ทั้งเกษตรกรชาวสวนลำไยและผู้เลี้ยงผึ้ง
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดเผยว่า ตั้งแต่มกราคมเป็นช่วงที่ลำไยออกดอกและต้องผสมเกสร ซึ่งในฤดูกาลผลิตนี้ได้สนับสนุนให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีช่วยในการผสมเกสรโดยใช้ผึ้งซึ่งช่วยให้การติดผลของลำไยมากขึ้น ได้ผลดีกว่าใช้แมลงชนิดอื่นๆ โดยเฉลี่ยสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตกว่า 78.78% นอกจากนี้การใช้ผึ้งช่วยลดการใช้สารเคมี ชาวสวนต้องใช้สารชีวภาพต่างๆ ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแทนสารเคมี ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อผึ้งได้
สำหรับแนวทางการปฏิบัติของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่จะใช้ผึ้งช่วยผสมเกสรควรทำสวนลำไยแบบเกษตรอินทรีย์ เน้นการจัดการและการใช้สารชีวินทรีย์ในการป้องกันกำจัดศัตรูลำไย ใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) รวมถึงการใช้สารที่มีพิษน้อยต่อผึ้ง สำรวจตรวจดูชนิดและปริมาณแมลงศัตรูลำไย อยู่เป็นประจำ เลือกใช้สารเคมีตามคำแนะนำและหลีกเลี่ยงการพ่นสารเคมีช่วงดอกลำไยบาน ทำข้อตกลงกับเจ้าของผึ้งและแจ้งเจ้าของผึ้งหากจำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อให้เจ้าของผึ้งย้ายผึ้งก่อน
ส่วนแนวทางการปฏิบัติของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งนั้นควรทำข้อตกลงให้ชัดเจนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงแจ้งกำหนดการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมถึงพื้นที่แนวรัศมีการออกหาอาหารของผึ้งอย่างสม่ำเสมอ ไม่วางรังผึ้งที่หนาแน่นจนเกินไปและเข้าตรวจสอบพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับสถานการณ์ลำไย ในปีนี้ จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ร้อนสลับหนาว และกระทบแล้งยาวนาน ส่งผลกับการออกดอกและติดผลครั้งแรกให้ช้าลงจากปกติอย่างน้อย 1 เดือนทำให้ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวช้าจากเดิมอีกประมาน 1 เดือนเช่นเดียวกัน ปี 2563 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ มีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น เป็น 857,036 ไร่ มีแนวโน้มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 817 กก./ไร่ เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือทั้งการกระจายผลผลิต การส่งเสริมการแปรรูป การส่งเสริมการตลาด รวมถึงความต้องการบริโภคลำไย จากต่างประเทศมีมากขึ้นทำให้เกษตรกรหันมาปลูกรวมถึงดูแลรักษาต้นลำไยมากขึ้น
กัลฑภรณ์ สุขเย็น รายงาน