ธ.ก.ส.ชูธุรกิจชุมชนสร้างไทย ปูฐานพัฒนาเศรษฐกิจสู่ชนบท

ธ.ก.ส. เปิดศักราชใหม่ ปี 2563 สู่การเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท เพิ่มยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชนแบบบูรณาการผ่านโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย

14 ก.พ.63/ นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท รวมถึงการเพิ่มยุทธศาสตร์ของธนาคารจากเดิม 5 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาการบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรและบุคลากรรองรับภารกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารจัดการรายได้รวมและต้นทุนรวมให้สมดุลและมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างและพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร SMAEs ยุทธศาสตร์ที่ 5 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรรายย่อย ด้วยกลไก Smart Farmer ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร SMAEs และสถาบันเกษตรกร

ปัจจุบันยังได้เพิ่มยุทธศาสตร์ที่ 6 คือ พัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งธนาคารได้กำหนดเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเสริมสร้างและพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในกิจกรรมการผลิต กิจกรรมการซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม โดยมีโมเดลในการขับเคลื่อนที่เริ่มต้นจากการค้นหา ศึกษาความต้องการของชุมชน ปัญหา แนวทางพัฒนาแก้ไข โอกาสและศักยภาพของชุมชน

ต่อจากนั้นจึงเริ่มสร้างความเข้มแข็ง โดยยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน ผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในการให้ความรู้ สนับสนุนเทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย และงบประมาณ

อีกทั้ง ธ.ก.ส. ยังช่วยสนับสนุนสินเชื่อให้กับ Smart Farmer ผู้ประกอบการ SMEs เกษตร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก มีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น

นายสมเกียรติ กล่าวว่าด้านการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อจัดตั้งหน่วยงานที่ขับเคลื่อนโครงการนี้โดยตรง และจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจชุมชนทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางผสานความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาคประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 3 ปี และสินเชื่ออื่น ๆ ตามแผนธุรกิจที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุมชน เพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนา

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกร สถาบันการเงินประชาชน วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน Smart Farmer SMEs เกษตรที่เป็นหัวขบวน และสหกรณ์การเกษตร

ทั้งนี้ ยังมุ่งสร้างและพัฒนา Smart Farmer ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร ปีละ 100,000 ราย และส่งเสริมการเติบโตของ SMEs เกษตร ให้เป็นหัวขบวน ปีละ 10,000 ราย ตลอดจนปรับเปลี่ยนภารกิจที่ทำร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเดิมธนาคารเป็นเพียงผู้ให้บริการและสนับสนุนสินเชื่อ มาเป็นการทำแผนแม่บทชุมชนร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ชัดเจนและเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

สำหรับการสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระนองนั้น มีตัวอย่างการดำเนินธุรกิจของ “ก้องวัลเลย์” ซึ่งเป็นหัวขบวนในการนำเมล็ดกาแฟจากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมบ้านในกรัง วิสาหกิจชุมชนบ้านสองแพรก กลุ่มอิ่วเมี่ยน คุณธวัช คนหลัก และจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ระนอง จำกัด (สกต.ระนอง) มาทำเป็นกาแฟคั่วบด มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ สกต.ระนอง ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อกว่า 20 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตกาแฟ และผลไม้ชนิดอื่น ๆ จากเกษตรกรรายย่อยและชุมชน ส่งขายให้กับผู้ผลิต รายใหญ่ที่ต้องการนำผลผลิตทางการเกษตรไปแปรรูป

นอกจากนี้ยังมีชุมชนท่องเที่ยวเกาะพยาม ที่ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่งดงามของชุมชนมาจัดทำโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการจัดทำโฮมสเตย์ และนำผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน เช่น กาหยูหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มาแปรรูปเป็นสินค้าพร้อมรับประทานและเป็นของฝาก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน