พระพุทธรูปปางมารวิชัย”พระอจนะ”
ตำนานพระพุทธพูดได้ พระสุรเสียงแห่งขวัญกำลังใจ นาม”พระอจนะ” ลือเลื่องความศักดิ์สิทธิ์มีมนต์เสน่ห์ อายุ 700 ปี
“พระอจนะ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ เป็นวัสดุปูนปั้น แกนในอิฐและศิลาแลง หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร สูง15 เมตร เป็นศิลปะแบบสุโขทัย เป็นพระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในมณฑป” วัดศรีชุม”
ปัจจุบันยอดพระมณฑปได้พังทลายลงไปตามกาลเวลา เหลือแต่เพียงผนังกำแพงโดยรอบ ไม่มีหลังคาปกคลุม เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้ง เป็นศาสนโบราณอยู่ในเขต”อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกกำแพงเมืองเดิมในตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
วัดศรีชุม ศาสนโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
“วัดศรีชุม”เป็นโบราณสถาน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัย” พ่อขุนรามคำแหง”ในวัดปรากฏโบราณสถานขนาดใหญ่ลักษณะมณฑปสี่เหลี่ยมจตุรัส สันนิษฐานว่าในอดีตตัวมณฑปน่าจะมีหลังคาคล้ายโดม ตัวมณฑปตั้งอยู่บนฐานสูง ด้านหน้าเปิดเป็นช่องเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปงดงามแต่ไกล
พระมณฑปวัดศรีชุม มองเห็น”พระอจนะ”
สำหรับตัวโบราณสถานประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง หลังแรกเป็นมณฑปรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 32 คูณ 32 เมตร สูง 15 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนามว่า”พระอจนะ” ในด้านหน้า เป็นพระวิหารหลวงมี 6 ห้อง ปรากฏในศิลาจารึกว่า”เบื่องตีนนอน” อยู่ทางทิศเหนือจะมีพระพุทธรูปใหญ่”เบื้องหัวนอน” จะอยู่ทางทิศใต้ สมัยพ่อขุนรามคำแหงโปรดให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธรูปไว้ และในสมัยพระเจ้าลิไทโปรดโปรดให้ก่อผนังใหม่อีกข้างให้ห่างจากผนังเดิม 1 เมตร 50 ซ.ม. โดยช่องว่างให้ทำบันได ทำอุโมงค์ขึ้นไปด้านหลังองค์พระ ผนังของอุโมงค์นี้โปรดให้แกะหินชนวนจากเจดีย์เก้ายอดที่วัดมหาธาตุที่แกะสลักเป็นเรื่องราวชาดก 550 พระชาติ และในส่วนที่แกะหินชนวนโปรดให้สร้างพระสาวกปางลีลา กระทำอัญชลีขึ้นแทนในการสร้างมณฑปที่มีผนัง 2 ชั้นได้รับอิทธิพลศิลปะโปโลนนารวะของศรีลังกา ซึ่งแพร่หลายมากในสมัยปรกมพาหุ ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงนิยมสร้างพระอัฏฐารส และพญาลิไทนิยมสร้างพระสาวกลีลา
ต่อมาในสมัยอยุธยา ครั้งสมเด็จบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพในปีพ.ศ.2127 ที่เมืองแครงทำให้หัวเมืองต่างๆ ยกเลิกการส่งส่วยให้กับพม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง(สวรรคโลก)ที่ไม่ยอมทำตามพระราชโองการของพระองค์ พระองค์จึงนำทัพเสด็จปราบเมืองเชลียง และได้มีการชุมนุมทัพที่วัดศรีชุมแห่งนี้ก่อนที่จะไปตีเมืองเชลียงและการรบครั้งนี้เป็นการรบระหว่างคนไทยด้วยกัน ทำให้เหล่าทหารไม่มีกำลังในการรบไม่อยากรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงได้วางแผนสร้างกำลังใจให้กับทหารโดยการให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขั้นไปทางด้านหลังขององค์พระ และพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้เกิดกำลังใจที่จะต่อสู้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิด”ตำนานพระพูดได้” ที่วัดศรีชุมแห่งนี้ และพระนเรศวรยังได้ทรงประกอบ”พิธีศรีสัจจะปานะการ” (พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา) วัดแห่งนี้ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าลิไท และมีการบูรณะเรื่อยมา สันนิษฐานว่าวัดได้ถูกทิ้งร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายจนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่9 ได้มีโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ.2485 โดยการบูรณะพระพุทธอจนะ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์เขียน ยิ้มสิริ
“พระอจนะ” พระพุทธรูปที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์
วัดศรีชุม หนึ่งในโบราณสถาน คำว่า”ศรีชุม” มาจาก”สะหลีชุม” คำว่า”สะหลี” เป็นคำโบราณหมายถึง”ต้นโพธิ์” ต่อมาได้เรียกขานเป็น”ศรี” คำว่า”ศรีชุม” จึงหมายถึง ดงต้นโพธิ์สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงโดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า”เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยมีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากกลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก”นามของ”พระอจนะ”ในภาษาบาลีว่า”อจนะ” แปลว่า ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง หรือ ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้มีพุทธลักษณะงดงาม พระวรกายอวบอิ่ม พระพักตร์แฝงด้วยรอยยิ้มและความเมตตา สะท้อนให้เห็นว่าช่างผู้รังสรรค์พุทธศิลป์ สร้างด้วยความศรัทธา เป็นงานพุทธศิลป์ที่สง่างามและสมบูรณ์แบบที่สุดยุคหนึ่งแตกต่างจากช่วงสมัยอื่นๆ
ต้นมะม่วงยืนต้นตระหง่านอยู่คู่กับวัดศรีชุม
พระอจนะ แต่อดีตสู่ปัจจุบันมีความเชื่อมาแต่โบราณไปทำบุญ ทำกุศล เสริมสิริมงคล อธิฐานขอพรให้กับชีวิต ขอพรให้มีจิตใจที่แน่วแน่ มุ่งทำการสิ่งใดๆก็สำเร็จ มีความเมตตา และความสุข
เรื่อง/ภาพ โดย พรหมพิริยะ จันทร์เพ็ญ