ม.ร.ว.จิราคม กิติยากร ประธานเครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุชาติ อุสาหะ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ณ อาคารรัฐสภา
เครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์ เดินหน้าขับเคลื่อนเสนอร่าง 3 พ.ร.บ. พุทธศาสนาต่อประธานคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม หวัง แก้ไขจุดอ่อนด้านความเสมอภาค
20 ก.พ. 2563 / ที่อาคารรัฐสภา ม.ร.ว.จิราคม กิติยากร ประธานเครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุชาติ อุสาหะ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดย ม.ร.ว.จิราคม ได้เปิดเผยว่าทางเครือข่ายได้มีมติร่วมกันเพื่อเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขปัญหาพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน ด้วยหลักความเสมอภาคภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อย่างไรก็ตาม หลัก “ความเสมอภาค” หลักการนี้ได้รับการบัญญัติได้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 4 คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ม.ร.ว.จิราคม กล่าวว่าจากหลักความเสมอภาคนี้ ได้มีความเหลื่อมล้ำของ พ.ร.บ.ของศาสนาอื่นที่มีอยู่ แต่ไม่มีในพุทธศาสนาตัวอย่างเช่น
1.พ.ร.บ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 2.พ.ร.บ. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545
3. พ.ร.บ. ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2559 อื่นๆ ดังนั้นเพื่อความเท่าเทียม ทางเครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์จึงขอนำเสนอ พ.ร.บ. พระพุทธศาสนาเพื่อสร้างความเสมอภาค ดังนี้
1. พ.ร.บ. การบริหารองค์กรพุทธศาสนา(อุบาสกและอุบาสิกา)
2. พ.ร.บ. ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย
3. พ.ร.บ. ส่งเสริมกิจการสังเวชนียสถาน
ด้าน ดร.ณพลเดช มณีลังกา เลขาธิการเครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์ กล่าวว่า นอกจากพ.ร.บ. พุทธศาสนาทั้ง 3 ฉบับนี้จะสร้างความเสมอภาคระหว่างศาสนาและยังจะช่วยลดปัญหาต่างๆของพุทธศาสนาที่ผ่านมา รวมถึงการสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับประชาชน ด้วยการตรากฎหมายทั้ง 3 ฉบับโดยจะช่วยแก้ปัญหาได้ดังนี้
1. พ.ร.บ. การบริหารองค์กรพุทธศาสนา(อุบาสกและอุบาสิกา) จะเน้นการให้บทบาทและหน้าที่กับฆราวาสซึ่งถือว่าเป็นพุทธบริษัทสี่ ให้มีส่วนช่วยเหลือสังคม เช่น มัคนายก อุปัฏฐาก อุบาสก อุบาสิกา สามารถเป็นผู้นำศาสนาและต้นแบบ เป็นคนดีของสังคมเช่น เป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นบุคคลตัวอย่าง เป็นผู้สอดส่องดูแล-กำกับ-เพิ่มความโปร่งใส เป็นจิตอาสา เป็นผู้ไกล่เกลี่ยขอพิพาทเบื้องต้น เป็นจิตแพทย์เบื้องต้น เป็นหมอชาวบ้านเบื้องต้น เป็นผู้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นผู้ประสานงานสงฆ์ ช่วยแก้ปัญหาโดยภาพรวมด้านคุณธรรม ช่วยลดเหตุการณ์ดังเช่นข่าวการฆาตรกรรมด้วยอาวุธปืน ดังที่เป็นข่าวได้
2. พ.ร.บ. ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย จะช่วยสร้างความโปร่งใสรวมถึงทำให้เกิดการตรวจสอบซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐและภาคองค์กรพุทธศาสนา รวมถึงช่วยปกป้องข้อมูลเชิงลับให้กับแต่ละฝ่าย สามารถแก้ไขปัญหาการเงินได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ยังจะช่วยผลักดันให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้อีกมิติหนึ่ง
3. พ.ร.บ. ส่งเสริมกิจการสังเวชนียสถาน ข้อนี้เป็นข้อที่ศาสนาอิสลามมีกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ และพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า “ผู้ใดระลึกถึงพระองค์ พึงจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้” สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าแต่ละศาสนาก็มีบทบัญญัติให้ศาสนิกชนของตนได้มีโอกาสได้ไปสถานที่กำเนิดของศาสนา และเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อศาสนิกของตนได้ไปถึงยังต้นแหล่งของศาสนา ทุกคนต่างกลับมาเป็นคนดีของสังคมมากขึ้น ดังนั้นชาวพุทธก็ควรได้รับการส่งเสริมให้ได้ไปสังเวชนียสถาน เช่นเดียวกันบ้าง