เตือนภัย“คลิกเบต”กลยุทธ์ปั่นยอดไลค์ พาดหัวให้เข้าใจผิด พลาดพลั้งแชร์ติดคุกไม่รู้ตัว

หลังจาก Digital 2020 Reports หรือรายงานสรุปความเคลื่อนไหวในโลกดิจิทัล ประจำปี 2020 โดย We Are Social และ Hootsuite ได้รับการเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนมกราคม ในที่สุดรายงานในส่วนของประเทศไทย (Digital 2020: Thailand) ก็ถูกปล่อยออกมาเสียที เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://datareportal.com/reports/digital-2020-thailand)

รายงานฉบับนี้ระบุตัวเลขที่น่าสนใจหลายประเด็น ซึ่งถือเป็นข้อมูลเชิงสถิติความเคลื่อนไหวในโลกดิจิทัลของไทยที่น่าติดตามทีเดียว จากประชากรไทย จำนวน 69.71 ล้านคน มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย อยู่ถึง 52 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งหมด โดยใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตนาน 9 ชั่วโมงต่อวัน รองลงมาคือดูโทรทัศน์ 3 ชั่วโมง 32 นาที และเล่นโซเชียลมีเดีย 2 ชั่วโมง 55 นาที
ฐานผู้บริโภคในโลกโซเชียลมีเดียที่ใหญ่มาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเม็ดเงินโฆษณามหาศาลจะไหลเข้าไปสู่สื่อใหม่ แต่การแข่งขันในโลกโซเชียลมีเดียก็รุนแรง ต้องขับเคี่ยวเพื่อดึงยอดคลิก ยอดชม ยอดกดถูกใจ เพราะยอดเหล่านั้นคือที่มารายได้ทั้งทางตรง และทางอ้อมของเว็บเพจต่างๆ

คลิกเบตแผลงฤทธิ์

เนื้อหาในรูปแบบคลิกเบต (Clickbait) จึงได้ออกมาอาละวาดอยู่เต็มไปหมด โดยมักจะใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัยใคร่รู้ หรือจูงใจให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตคลิกเข้าไปอ่าน ทั้งที่เนื้อข่าวอาจจะไม่มีอะไร หรืออาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพาดหัวเลย ทำให้เราหงุดหงิดใจไม่น้อย แต่ก็อดไม่ได้ทุกทีที่จะต้องกดเข้าไป เพราะข้อความพาดหัวกระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นเหลือเกิน โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่ (หลอกให้คิดว่า) เกี่ยวข้อง หรือใกล้ตัวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ซึ่งสิ่งที่เจ้าของเว็บเพจอยากได้จากการดำเนินการแบบนี้ คือ ยอด Traffic ให้เว็บไซต์ แล้วยิ่งเชื่อมโยงกับFacebook แล้วส่ง link แชร์ผ่านไลน์ยิ่งขยายผลได้เร็ว

พาดหัวชวนให้เข้าใจคลาดเคลื่อน

ตัวอย่างที่ตกเป็นเหยื่อของคลิกเบต เมื่อเร็วๆ นี้คือ พาดหัวยั่วให้เข้าใจผิด“ซื้อง่ายจ่ายสะดวก 7-11 จับมือกับ Toyota สร้างรถขายกับข้าว บริการถึงหน้าบ้าน” หรือ“บริการถึงหน้าบ้าน 7-11 สร้างรถขายกับข้าว สะดวกมาก” พอผู้อ่านเห็นพาดหัวแค่นี้ ไม่ทันได้อ่านเนื้อหา หลายคนก็คิดไปก่อนแล้วว่าเป็นร้านสะดวกซื้อขวัญใจคนไทยที่มีอยู่ทุกหัวมุมถนน แต่หากได้คลิกเข้าไปดูจริงๆ จะรู้เลยว่าบริการนี้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และก็เป็นข่าวที่ถูกเผยแพร่เมื่อหลายปีก่อนหน้า จึงแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของสื่อโซเชียลในยุคปัจจุบัน ที่บางครั้งอาจจะมีเจตนาแอบแฝง โดยใช้กลวิธีเขียน “พาดหัวให้สำคัญผิดในรายละเอียด” เพื่อเรียกแขกให้คลิกเข้าไปมากๆ ซึ่งเมื่อถูกนำมาแชร์ในโซเชียลมีเดียก็ดูเหมือนจะได้ผล เพราะยิ่งมีการแชร์ต่อไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะหลอกคนที่ไม่รู้เท่าทันให้หลงเข้าไปเป็นเหยื่อสร้าง Traffic ความนิยมปลอมๆ ให้แก่เว็บไซต์นั้นๆ ไปแอบอ้างหาโฆษณาได้

ส่งต่อหรือแชร์ข้อความที่บิดเบือน ติดคุกไม่รู้ตัว

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิเลคทรอนิกส์และกฎหมายคอมพิวเตอร์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า การเขียนหัวข้อข่าวจงใจให้เกิดการเข้าใจผิด เช่นในกรณีตัวอย่างทำให้บุคคลทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นการดำเนินกิจการของร้านเซเว่นฯ ในประเทศไทย ทั้งที่เนื้อหาข่าวด้านในเป็นร้านเซเว่นฯ ในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีลักษณะเป็นการนำเข้าข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่บิดเบือน หรือการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย การกระทำความผิดดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไขปี 2560) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท

ขณะเดียวกัน ผู้ใดส่งต่อหรือแชร์ข้อความที่บิดเบือนข้างต้น ก็จะมีความผิดเช่นกันฐานเผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จตามมาตรา 14 (5) ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาทด้วย

กลโกงต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามโลกที่พัฒนาขึ้น ทุกคนในสังคมต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ก่อนแชร์ ก่อนแสดงความคิดเห็น ต้องอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลให้ถ่องแท้ มิฉะนั้นอาจจะตกเป็นผู้ร้ายทำลายสังคมโดยไม่รู้ตัว

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน