“จตุคาม-รามเทพ”เทพรักษาพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประดิษฐ์ฐานทางขึ้นสู่พระบรมธาตุ
ศาลหลักเมือง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ตั้งของหลักเมือง ตามธรรมเนียมพิธีของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพื้นบ้านแบบจีนหรือลัทธิเต๋าว่า ก่อนจะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิที่สำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคล
ศาลหลักเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่จะทำจากไม้มงคล ลักษณะเสาปลายยอดเป็นดอกบัวตูม หรือหน้าเทวดา หลักหินและใบเสมา ประเทศไทยในจังหวัดมีเสาหลักเมือง บางอำเภอก็มีเสาหลักเมือง ยังคงเรียกเสาหลักเมืองเพราะเป็นเมืองเก่าก่อนถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอในปัจจุบัน ตามชุมชนเล็กๆที่มีเสาหลักเมือง จะเรียกเป็นศาลหรือเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน ศาลหลักเมือง คือ อาคาร หรือเทวสถานที่สถิตของเจ้าพ่อ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง คือ ที่สถิตของเทพเจ้าผู้มีมเหศักดิ์ดูแลปกป้อง คุ้มครองบ้านเรือนและประชาชน หลักเมือง คือนิมิตหมาย ว่าต้องได้สร้างเมือง ณ ที่ตรงนั้น เมื่อวัน เดือน ปี เวลา นาที
หลักเมืองนครศรีธรรมราช เป็นความเห็นแตกต่างของชาวนครศรีธรรมราช ฝ่ายหนึ่ง เห็นว่ามีมาก่อนแล้วแต่ได้พังทลายลง เพราะเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองสำคัญ เป็นเมืองแม่ของเมืองบริวาร 12 นักษัตร จะต้องมีหลักเมืองเป็นศักดิ์ศรี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองสมบูรณ์ตามโบราณ
พระบรมธาตุวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
อึกฝ่ายเห็นควรสร้างหลักเมือง และขยายความด้วยเหตุผลตามหลักโหราศาสตร์ว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นมหานครทางภาคใต้โดยมีพระบรมธาตุเป็นปูชนียสถาน เป็นศูนย์กลางของศาสนาและความเชื่อ พบว่าชะตาเมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างเมื่อ วันพฤหัสบ แรม 2 ค่ำเดือน 3 ปีเถาะ ศก 694 พ.ศ.1830 ตรงกับสมัยกรุงสุโขทัยเรืองอำนาจ ดวงเมืองที่กำหนดขึ้นในครั้งนั้นผู้ทรงคุณวุฒิด้านโหรได้ตรวจสอบพบว่า เข้าเกณฑ์ภัยร้ายไม่เป็นผลดีแก่บ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต สมควรที่จะวางดวงชะตาขึ้นเสียใหม่เพื่อเกิดความร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ได้วางศิลาฤกษ์ชะตาเมืองขึ้นใหม่ และสร้างหลักเมืองขึ้นเป็นเสาหลัก เจ้าพิธีคือ”พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช” ในการสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่
ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช เป็นที่ประดิษฐานหลักเมือง ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานศาลหลักเมืองมีลักษณะศิลปะศรีวิชัย เรียกว่า”เหมราชลีลา”
ส่วนอาคารที่อยู่รอบศาลหลักเมืองทั้ง4 หลัง เป็นบริวารทั้ง 4 ทิศ เรียกว่า”ศาลจตุโลกเทพ” ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระพรหมเมือง และพรบันดาลเมือง เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ตะเคียนนำมาจากภูเขายอดเหลืองเป็นภูเขาในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในท้องที่ตำบลกระหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ ส่วนบนของเสาเป็นรูป “จตุคาม-รามเทพ” (สี่พักตร์) ลวดลายที่แกะสลัก ตั้งแต่ฐาน เป็นวงรอบเก้าชั้น มี9 ลาย ส่วนบนของหัวเสาเป็นเทวดารักษาเมือง (สี่พักตร์) หรือรูปจตุคาม-รามเทพ
เทดารักษาเมือง (สี่พระพักตร์) แกะสลักตามพุทธพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ศิลปะศรีวิชัย”เหมราชลีลา”
เหนือสุดเป็นเปลวเพลิงอยู่บนยอดเกตุ ยอดชัยหลักเมือง รูปแบบการ แกะสลักจินตนาการจากความเชื่อในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน
หลักเมืองนครศรีธรรมราช ประดิษฐาน ณ บริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช รูปลักษณ์และองค์ประกอบที่ช่างผู้แกะสลักบรรจงแกะและแกะสลักขึ้นด้วยความเชื่อในเรื่องกฏวัฏจักรและโลกธรรมเป็นหลัก
“จตุคาม-รามเทพ”ยังเชื่อมโยงกับ พระธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ(พระทันตธาตุ)ในวิหารพระม้า เป็นวิหารที่มีบันไดทอดเป็นทางขึ้นสู่ลานประทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ตรงส่วนยอดบันไดมีรูปปั้น คือ” ท้าวจตุคาม-รามเทพ และท้าวจตุโลกบาลทั้ง4ทิศ” มีหน้าที่อภิบาลรักษาพระบรมธาตุและเมืองศรีวิชัย เชื่อว่า”จตุคาม-ราทเทพ” เป็นนามเทพผู้ดูแลพระบรมสารีริกธาตุมีการเชื่อมโยงว่า “จตุคาม-รามเทพ” คือ”พระเจ้าจันทรภานุ” หรือ”พญาศรีธรรมาโศกราช”
เสาหลักเมืองนครศรีธรรมราช
อดีตกษัตริย์แห่งนครศรีธรรมราช พระเจ้าจันทรภานุได้สู้รบกับกองทัพทมิฬจากอินเดียใต้ จัดสร้างพระบรมธาตุ สถาปนาเมือง 12 นักษัตร หรือกรุงศรีธรรมโศกสืบทอดพระพุทธศาสนา นครศรีธรรมราช เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ มีหัวเมืองขึ้นถึง 12 เมือง เรียกว่า”เมือง 12 นักษัตร”
เรื่องของจตุคาม-รามเทพได้รื้อพื้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2529 เริ่มจากการสร้างศาลหลักเมือง มีคณะดำเนินงาน ประกอบด้วย พล.ต.ต.ขุนพันธราชเดช ผู้ทรงวิทยาคม สัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.หลายสมัยจังหวัดนครศรีธรรมราช พล.ต.สรรเพชญ์ ธรรมกุล ครั้งเป็น ผบก.นครศรีธรรมราช อผ่อง สกุลอมร
อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อว่า นครศรีธรรมราชต้องคำสาป จะต้องแก้ไขด้วยศาลหลักเมืองและจัดพิธีกรรมต่างๆ และเสาะหาเทพประจำศาลหลักเมือง ได้ประกอบพิธีเข้าทรง ณ วัดนางพระยา และขุนพันธรักษ์ราชเดช ได้ระบุนามเทพที่เข้าทรง คือ ท้าวจตุคาม-รามเทพ อดีตกษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัย”ร่างท้าวจตุคาม-รามเทพ ได้แนะนําขั้นตอนล้างอาถรรพ์ต่างๆ หลายขั้นตอน ก่อนจะไปถึงพิธีเทพชุมนุมตัดชัย ที่วิหารหลวง วัดมหาธาตุ
พิธีแกะเสาหลักเมือง พิธีเจิมยอดชัยหลักเมือง เป็นพิธีสำคัญยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าพระมหาอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรรัชกาลที่9 ทรงเจิมยอดชัยหลักเมือง ในปี พ.ศ.2530 และในการสร้างศาลหลักเมือง ได้มีการสร้างวัตถุมงคลจตุคาม-รามเทพขึ้นด้วยในครั้งนั้น
ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ประดิษฐานเทพประจำเมือง
จตุคาม-รามเทพ ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวาง เชื่อว่าทรงฤทธานุภาพในทุกด้าน ตามจารึกของชาวศรีวิชัยได้บอกว่า”มีอานุภาพดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ขจัดความมืดมัวในโลก” การขออธิษฐานจากพระองค์ “อธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ขัดต่อศีลธรรม เมื่อได้รับสิ่งที่หวังแล้ว ต้องรักษาสัจจะที่ได้ให้กับพระองค์ ควรสร้างกุศลถวายแด่องค์จตุคาม-รามเทพ
ที่สำคัญ อย่าเพียงอธิษฐาน ต้องสร้างกุศลให้แก่ตนครบทุกด้านด้วย ให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนา
เรื่อง/ภาพ โดย พรหมพิริยะ จันทร์เพ็ญ