“ปุนเถ้ากงม่า” เจ้าพ่อวัดศาลเจ้า
ชาวมอญ “รามัญ” อพยพเข้ามาในสยามในขณะนั้น โดยมี พญาเจ่งเป็นหัวหน้า พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบ้านเมืองที่”สามโคก” ครั้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ชาวมอญได้อพยพเข้ามาอีก จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก นนทบุรีและเมืองนครเขื่อนขันธ์(อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ)
ชาวมอญที่เข้ามารุ่นหลังนี้เรียก “มอญใหม่” ได้ก่อตั้งบ้านเรือนออกจากบ้านสามโคกอยู่ทั่วไปสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารวมเป็นชุมนุมชนหมู่บ้านชื่อเรือนวัดวาอารามปรากฏเป็นภาษามอญโดยตั้งชื่อหมู่บ้านและวัด ให้เหมือนกับชื่อหมู่บ้านในเมืองเดิมของตน เพื่อให้ผู้อพยพได้รวมเป็นพวกเดียวกัน ไม่พลัดหลง
รัชกาลที่ 2 ได้พระราชทานนามบ้านสามโคกใหม่ว่า “ปทุมธานี” และแต่งตั้ง ”พระยาพิทักษ์ทวยหาร” เป็นเจ้าเมือง พร้อมยกฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรีจังหวัดปทุมธานีก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ
ตุ๊กตาจรเข้แก้บนที่ประชาชนมาขอพร เมื่อได้สมปรารถนาแล้วจึงนำมาแก้บนและถือเป็นบริวารของเจ้าพ่อวัดศาลเจ้า
ในสมัยนั้นมีการสร้างบ้านและวัดมักจะสร้างตามริมแม่น้ำและใกล้เคียงในสมัยนั้นจะสัญจรทางน้ำ วัดศาลเจ้าและวัดมะขามจึงติดกับแม่น้ำเป็นวัดเก่าแก่ย่านเมืองปทุมธานี อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองเชียงราก
วัดแห่งนี้มีคำบอกเล่าแตกต่างกันไป กล่าวว่าสร้างในปี พ.ศ.2330 เนื่องจากตั้งอยู่บนปากคลองศาลเจ้าจึงตั้งชื่อขึ้นตามทำเลที่ตั้ง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2333 และอีกตำนานหนึ่งเล่าต่อกันมา”วัดศาลเจ้า” สร้างปลายกรุงศรีอยุธยา โดยเจ้าน้อยมหาพรหม บุตรเจ้าเมืองเหนือ เป็นผู้มีวิชาไสยเวทแก่กล้า ได้ล่องแพ จนมาถึงวัดมะขามในและได้พบพระภิกษุเชื่อสายรามัญนาม”พระอาจารย์รุ” ผู้เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน ทั้งสองได้ลองวิชากัน เจ้าน้อยมหาพรหมเกิดความเคารพเลื่อมใสในวิทยาคมของอาจารย์รุจึงขออนุญาตสร้างวัดและศาลขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจ แล้วยังตั้ชื่อว่า”วัดศาลเจ้า” คาดว่ามาจาก” ศาล”ที่เจ้าน้อยสร้างขึ้นถวาย”เจ้า” คือคำนำหน้าชื่อเจ้าน้อยมหาพรหม นำมารวมกันว่า”วัดศาลเจ้า”
ผ้ายันต์ฟ้าประทานพร เป็นผ้ายันต์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ใครต้องการมีไว้บูชา
วัดศาลเจ้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กระแสน้ำเชี่ยวและเป็นวังวล มีศาลเจ้าไม้เล็กๆอยู่(ตามประวัติศาลเจ้าพ่อวัดศาลเจ้า)ชาวบ้านเรียกว่า”ศาลเจ้าพ่อปู่” ชาวจีนเรียก”ปึงเถ้ากงม่า”
แปะ โรงสี เมื่อมีเวลาจะมาบูรณะและคลุกคลีอยู่ที่ศาลเจ้า ช่วงคมนาคมยังไม่สะดวก ส่วนใหญ่จะใช้ทางน้ำสัญจรไปมาการบูรณะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ท่านได้ดำเนินการอย่างไม่หยุดหย่อนและได้ใช้การพายเรือไปช่วยเหลือคนตามสถานที่ต่างๆ จึงมีผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือท่านบูรณะศาลเจ้าพ่อศาลเล็กๆริมน้ำมาเป็นศาลเจ้าที่เป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่นอกจากการบูรณะศาลเจ้ายังได้กำหนดการจัดงานประจำปีของศาลเจ้าพ่อวัดศาลเจ้าเป็นวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 1 ถึงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 1 ทางชาวจีนเรียกช่วงนี้ว่า”เจียง่วย ชิวโหงว ถึง เจี่ยวง่วย ชิวโป้ย” และถือเป็นประเพณี
เซียนแปะ โรงสี ประดิษฐ์ฐานอยู่ที่ศาลวัดศาลเจ้า
ประวัติ เซียนแปะ โรงสี จากคำบอกเล่าของลูกหลานและศิษย์ นามของท่าน กิมเคย แซ่โง้ว เกิดที่ประเทศจีน ตำบลเท้งไฮ้ เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เด็กอายุประมาณ10ขวบ เติบใหญ่เป็นหนุ่มเริ่มที่จะประกอบอาชีพก็ได้รับจ้างทั่วไปรวมทั้งค้าขายข้าวเปลือก กิจการการค้าข้าวเปลือกดีขึ้น จึงได้รวบรวมหุ้นทำธุระกิจการโรงสีที่ปากคลองโพธิ์ล่าง ปัจจุบันเป็นตำบลบางเดื่อ จังหวัดปทุมธานี และอายุประมาณ 22 ปี ได้สมรสกับนวลศรี เอี่ยมเข่ง มีบุตรด้วยกัน 10 คน
ต่อมาได้ย้ายมาปากคลองเชียงรากประกอบกิจการโรงสี เยื้องๆกับวัดศาลเจ้า โรงสีตั้งอยู่บนตำบลบางกะดีในนามของ”โรงสีไฟทองศิริ” และได้โอนสัญชาติเป็นคนไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น”นที ทองศิริ” กิจการโรงสีธุระกิจดีขึ้นตามลำดับ และมั่นคง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ขนานนามให้ท่านว่า”เถ้าแก่กิมเคย” หรือ “แปะกิมเคย” ถึงแม้ท่านเป็นคนจีนดั้งเดิมแต่ก็ชอบเคี้ยวหมากพลูเช่นคนไทย เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายผ่ายผอม หลังโค้งงอ ท่านยังช่วยเหลือชี้แนะให้แก่บรรดาลูกศิษย์และผู้คนทั่วไปโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเช่นที่เคยปฎิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จนเป็นที่เคารพของบรรดาศิษย์ จนกระทั่งอายุ 85 ปี เมื่อปลายปี พ.ศ.2525 ท่านเริ่มมีอาการอ่อนเพลียต้องเข้าโรงพยาบาลเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจนถึงเวลา 05.30 น. ของเช้าวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2526 ได้จบชีวิตลงหลังเสร็จพิธีงานศพ ศิษย์และครอบครัว ได้ทำการก่อสร้างศาลาเอนกประสงค์ไว้หลังศาลเจ้าพ่อวัดศาลเจ้า ใช้ชื่อว่า”ศาลานที ทองศิริ” พร้อมสร้างรูปปั้นและตั้งรูปปั้นจำลองขนาดเท่าองค์จริงเพื่อไว้ให้เป็นที่สัการะและเป็นที่พึ่งทางใจ
เซียนแปะ โรงสี เชื่อกันว่าท่านมีองค์ประทับอยู่ ก็คือ เจ้าพ่อปู่ของศาลเจ้าพ่อวัดศาลเจ้า โดยงานประจำปีท่านจะจุดเทียนเพื่อปัดเป่าลมฝน ซึ่งฝนจะไม่ตกและท้องฟ้าแจ่มใส อาจารย์โง้วกิม หรือ เซียนแปะ ท่านมีลูกศิษย์มากมายโดยเฉพาะในหมู่พ่อค้า บรรดาผู้คนจากที่ต่างๆทั้งในและต่างประเทศพากันมาหาเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับฮวงจุ้ยและทำเลที่ตั้ง ซึ่งท่านจะชี้แนะก็จะประสพผลสำเร็จ กิจการรุ่งเรือง เซียนแปะ โรงสีท่านมีผ้ายันต์ประจำตัว คือ “ยันต์ฟ้าประทานพร” กล่าวกันว่าผู้ใดพกพาหรือติดตั้งอยู่ในสถานที่ใดจะพบแต่ความเจริญรุ่งเรืองนำพา โชคลาภเงินทองรวมถึงสามารถใช้แก้ฮวงจุ้ยเสริมดวง
ประชาเดินทางมากราบไหว้ขอพรต่อ”เซียนแปะ โรงสี” ที่วัดศาลเจ้า
นอกจากนี้ยังขึ้นชื่อทางด้านกันไฟและสิ่งไม่ดีทุกชนิด ผู้คนส่วนใหญ่นิยมมาขอพรเรื่องการงานการเงิน ทำธุรกิจการค้าให้เจริญรุ่งเรือง เมื่อได้สมปรารถนาแล้วจะนำผลไม้ของไหว้มงคลต่างๆ รวมถึงหุ่นจระเข้มาถวายเพื่อแก้ตามที่ได้เคยขอไว้แล้วประสบความสําเร็จและถวายเพื่อความเป็นสิริมงคล
เรื่อง/ภาพ โดย พรหมพิริยะ จันทร์เพ็ญ