กรมวิชาการเกษตร อวดมะขามเปรี้ยวพันธุ์ใหม่ศรีสะเกษ 1 ปลื้มทุกลักษณะเด่นชนะพันธุ์ท้องถิ่นและพันธุ์เดิมที่เกษตรกรปลูกมากว่า 20 ปี ฝักใหญ่ เมล็ดน้อย ให้ผลผลิตสูง ปริมาณเนื้อมาก ฝักดาบ โค้ง ยาว แกะเปลือกแยกเนื้อออกจากรกง่าย เตรียมพร้อมกระจายพันธุ์ดีสู่เกษตรกรไม่น้อยกว่า 1 พันกิ่ง / ปี
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มะขามเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยไทยเป็นประเทศผู้ผลิตมะขามเปรี้ยวใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากประเทศอินเดีย ผลิตภัณฑ์มะขามที่ส่งออกมีทั้งมะขามสด มะขามเปียก และมะขามแห้ง โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม แคนาดา สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มะขามเปรี้ยวแกะเปลือกหรือมะขามเปียก ใช้เป็นเครื่องปรุงรสเปรี้ยวที่เป็นเอกลักษณ์ด้านรสชาติในอาหารไทยเกือบทุกชนิด ภัตตาคาร และร้านอาหารไทยในต่างประเทศจึงมีความต้องการนำเข้ามะขามเปรี้ยวจากไทยเพิ่มขึ้น มะขามเปรี้ยวจึงถือเป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวที่ใช้ประโยชน์จากฝักดิบและฝักแก่เพื่อการแปรรูปและการผลิตมะขามเปียก โดยออกเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2537 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ ซึ่งพันธุ์ดังกล่าวได้ออกเป็นพันธุ์แนะนำแก่เกษตรกรมาแล้วกว่า 20 ปี ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาพันธุ์มะขามเปรี้ยวให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิมเป็นทางเลือกและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไป ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จึงได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวโดยรวบรวมพันธุ์มะขามเปรี้ยวที่ชนะการประกวดในจังหวัดต่างๆ นำมาปลูกไว้ในแปลงรวบรวมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จำนวน 26 สายพันธุ์ โดยมีพันธุ์เดิมคือพันธุ์ศรีสะเกษเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ
ปี 2536 – 2544 ได้คัดเลือกพันธุ์มะขามเปรี้ยวจากแปลงรวบรวมพันธุ์ดังกล่าวโดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือต้องเป็นทรงพุ่ม ทรงกระบอกหรือทรงกลม เจริญเติบโตดี ติดฝักสม่ำเสมอ ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์แนะนำเดิม ฝักมีขนาดใหญ่ โค้งเล็กน้อยและยาวไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร เปลือกหนา ฝักไม่แตกง่าย มีปริมาณเนื้อมากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ สามารถคัดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงได้จำนวน 2 สายพันธุ์ คือ ศก.045 และ ศก.048 ปี 2554-2562 ได้ทดสอบพันธุ์มะขามเปรี้ยวเพื่อการแปรรูปในท้องถิ่น ซึ่งผลจากการทดสอบพันธุ์สามารถคัดเลือกได้พันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่นตามเกณฑ์คัดเลือกได้ 1 สายพันธุ์ คือ ศก.048
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มะขามเปรี้ยวสายพันธุ์ศก.048 ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จึงใช้ชื่อพันธุ์ว่า “มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 1” มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูงถึง 4.46 กิโลกรัม/ต้น/ปี ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ ที่ให้ผลผลิต 3.14 กิโลกรัม และสูงกว่าพันธุ์ท้องถิ่นที่ให้ผลผลิต 1.62 กิโลกรัม ซึ่งพันธุ์ศรีสะเกษ 1 ให้ผลผลิตสูงกว่าเกือบ 2 เท่า รวมทั้งยังให้ปริมาณเนื้อมากถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าพันธุ์ศรีสะเกษที่ให้ปริมาณเนื้อ 43 เปอร์เซ็นต์ และมากกว่าพันธุ์ท้องถิ่นที่ให้ปริมาณเนื้อ 41 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 1 ยังมีฝักขนาดใหญ่ ความยาวกว่า 15 เซนติเมตร และความหนาฝัก 1.99 เซนติเมตร ซึ่งมากกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ และมากกว่าพันธุ์ท้องถิ่น ใน 1 กิโลกรัมมีจำนวนฝัก 48 ฝัก ในขณะที่พันธุ์ศรีสะเกษมีจำนวนฝัก 50 ฝัก และพันธุ์ท้องถิ่นมีจำนวนฝัก 63 ฝัก ลักษณะฝักมะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 1 เป็นฝักดาบ ฝักยาว ค่อนข้างกลมและโค้งเล็กน้อย ทำให้สะดวกในการแกะเปลือกเพื่อแยกเนื้อออกจากรก ปริมาณเมล็ดน้อยโดยมีเมล็ด 23 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พันธุ์ศรีสะเกษมีเมล็ด 29 เปอร์เซ็นต์ และมะขามเปรี้ยวพันธุ์ท้องถิ่นมีเมล็ด 28 เปอร์เซ็นต์
ในปี 2562 มีต้นแม่พันธุ์อายุ 8 ปี จำนวน 20 ต้น พร้อมขยายพันธุ์ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 กิ่งต่อปี เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร โทร.0-4551-4581