เฝ้าระวังเพลี้ยไฟในมะม่วง

ระยะนี้อากาศร้อนและแล้ง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเฝ้าระวังสังเกตการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายโดยใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อและดูดกินน้ำเลี้ยงจาก เซลล์พืชบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก ช่อดอกมะม่วงโดยเฉพาะฐานรองดอก และขั้วผลอ่อน กรณีที่ไม่ระบาดรุนแรง จะพบแผลชัดเจนเป็นวงใกล้ขั้วผลมีสีเทาเงินเกือบดำหรือผลบิดเบี้ยว

หากระบาดรุนแรง ผิวของผลมะม่วงจะเป็นสีดำเกือบทั้งหมด ทำให้ผลผลิตมีราคาต่ำลง การทำลายในระยะติดดอก จะส่งผลให้ช่อดอกหงิกงอ ดอกร่วงไม่ติดผล หรือติดผลน้อย ส่วนอาการบนยอดอ่อน จะส่งผลทำให้ใบที่แตกใหม่แคระแกร็น ขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจร่วงตั้งแต่ยังเล็กๆ สำหรับใบที่ขนาดโตแล้วเพลี้ยไฟมักลงทำลายตามขอบใบ ทำให้ใบม้วนงอและปลายใบไหม้ ถ้าเป็นการทำลายยอดจะรุนแรง ส่งผลทำให้ยอดแห้งไม่แทงช่อใบหรือช่อดอก การทำลายที่ตา ช่อดอกบิดเบี้ยว หงิกงอ หรือติดผลน้อย และผลเล็กๆ ที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายอาจร่วงหล่นได้

เมื่อพบการระบาดไม่มาก ให้เกษตรกรตัดส่วนที่เพลี้ยไฟทำลายนำไปเผาทิ้งนอกแปลงปลูก เพราะเพลี้ยไฟจะอยู่เป็นกลุ่มบริเวณส่วนยอดอ่อนของพืช จากนั้น ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา–ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฟนโพรพาทริน 10% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้พ่นสารฆ่าแมลงในระยะติดดอกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะเริ่มแทงช่อดอกและระยะเริ่มติดผลขนาดมะเขือพวง (ประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร) กรณีพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรง อาจจำเป็นต้องพ่นซ้ำในระยะก่อน ดอกบาน หลีกเลี่ยง การพ่นสารฆ่าแมลงในระยะดอกบาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร