มาละเหวยเกษตรสร้างชาติจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาภัยแล้งปลูกพืชน้ำน้อยรองรับ

‘รมช.ประภัตร’ นำทีมข้าราชการเกษตรฯเตรียมพร้อมจัดงานขับเคลื่อน ‘มหกรรมเกษตรสร้างชาติ’ หนุน 4 อาชีพทางเลือกสร้างรายได้ ตั้งแปลงสาธิตกว่า 20 ทางเลือกเน้นลงมือทำจริง คาด เปิดเข้าชมฟรี!! ได้ต้นเมษายน รับสงกรานต์ สร้างรายอย่างยั่งยืน

6 มี.ค. 63/ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยอ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมจัดงานมหกรรมเกษตรสร้างชาติ ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายเร่งด่วนในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ และผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เพื่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้ที่เหมาะสมในแต่ละชุมชน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูภาคการเกษตรทั้งระบบของประเทศ โดยเน้นให้แต่ละหน่วยงานจัดทำศูนย์การเรียนรู้และสาธิตการประกอบอาชีพในด้านต่างๆ เช่น

1.การปลูกพืชใช้น้ำน้อย 2.การประมง 3.การเลี้ยงโคเนื้อ กระบือ แพะ และสัตว์ปีก และ 4.ด้านการตลาด การแปรรูป เพิ่มมูลค่าการผลิต

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการเกษตรสร้างชาติ เพื่อส่งเสริมการผลิตด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยการสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี โดยที่ผ่านมาได้ เริ่มดำเนินการนำร่องโครงการเกษตรสร้างชาติ

ในส่วนของด้านปศุสัตว์ไปแล้วในหลายจังหวัด แต่ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเนื่องจากธ.ก.ส .ยังไม่เชื่อมั่นเนื่องมาจากเกษตรกรเขียนแผนธุรกิจไม่ชัดเจนทำให้ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการฯ เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม กระทรวงเกษตรฯ จึงเตรียมจัดงาน ‘มหกรรมเกษตรสร้างชาติ’ ขึ้น โดยวันนี้ได้เชิญทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ มาลงพื้นที่เพื่อร่วมกันคิดเมนูอาชีพด้านต่างๆ และพิจารณาสถานที่จัดทำแปลงสาธิตตามความเหมาะสม กว่า 20 เมนูหรือทางเลือกอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรได้เรียนรู้และเลือกทำ โดยจะจัดให้มีศูนย์ถ่ายทอด ศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิต ทุกเมนูต้องมีตลาดรองรับแน่นอน มีการสัมมนา อบรม สาธิต

ที่สำคัญให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินในการเขียนแผนธุรกิจ เพื่อให้เป็นจุดบริการแบบเบ็ดเสร็จ โดยใช้พื้นที่กว่า 100 ไร่ ในหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย จ.สุพรรณบุรี เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย อาธิการสาธิตและให้ความรู้ การปลูกข้าวนุ่มคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด การแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ การปลูกพืชในโรงเรือน การปลูกอ้อยคั้นน้ำน้อย เทคนิคการเลี้ยงสัตว์น้ำให้ได้ผลดีและไว อาทิ ปลาสลิดดอนกำยาน กุ้งก้ามกราม เป็นต้น

“ที่ผ่านมา โครงการฯ มีปัญหาติดขัดในเรื่องของการปล่อยกู้ ภายหลังจากที่ ครม.อนุมัติงบมาช่วย 50,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ยังปล่อยไม่ได้ เพราะเกษตรกรยังไม่เข้าใจ หรือทำไม่ถูกเงื่อนไขของ ธ.ก.ส. วันนี้จึงต้องเร่งทำแปลงสาธิตเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรได้มาเห็นของจริงหากยังไม่เข้าใจต้องมาลงมือทำ ถึงจะตัดสินใจได้ว่าจะเลือกเมนูอะไร เราจึงให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และ ธ.ก.ส. ผสานความร่วมมือกัน ช่วยเกษตรกรให้องค์ความรู้ ติดขัดตรงไหนก็มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเขียนแผนธุรกิจ ธกส. จะต้องแนะนำให้ชัดเจน จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ โดยเน้นรูปแบบโมเดลด้านต่าง แบบ One Stop Service คือ เกษตรกรมาในงานนี้จะได้ทั้งความรู้และแหล่งเงินทุนในการส่งเสริมอาชีพต่อ หากทำได้อย่างจริงจังเชื่อว่าจะแก้ปัญหาความยากจนได้ส่วนหนึ่ง”

“ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าภายในเดือน มี.ค. ศกนี้จะต้องแล้วเสร็จ และสามารถปล่อยกู้ให้เกษตรกรได้ในเดือน เม.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม หากจังหวัดอื่นๆ มีความพร้อม ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ยินดีไปสนับสนุนต่อไป” นายประภัตร กล่าว

กัลฑภรณ์ สุขเย็น รายงาน