ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แจ้งว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ยังส่อเค้าความรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นทั่วโลก หลังจากยอดผู้ติดเชื้อนอกจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ล่าสุดทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 90,000 คน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนอกประเทศจีนมีระดับความรุนแรงและมีแนวโน้มที่จะลากยาวไปมากกว่าไตรมาสแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อใช้เป็นสมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ดังนี้
1. สถานการณ์ในจีน สามารถควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า โดยไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดปะทุขึ้นมาอีก
2. สถานการณ์ในประเทศอื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศอิตาลี และเกาหลีใต้ สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 2
3. สถานการณ์ในไทย จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาสั้นๆภายใต้สมมติฐานของสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ข้างต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2563 จากเดิม 2.7% ลงมาอยู่ที่ 0.5% โดยได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ภาครัฐอาจนำออกมาใช้เพื่อเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ซึ่งการใช้จ่ายของภาครัฐน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราการเติบโตที่ 0.5% จะเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ในปี 2552 ท่ามกลางความเสี่ยงที่ไทยอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางโครงสร้างเช่นในปี 2540 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ดังนั้น ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปตามสมมิตฐาน เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน