แมงสี่หู ห้าตา หรือ พระอินทร์จำแลง สัตว์ในตำนานพื้นเมืองล้านนา
พระอินทร์จำแลง”แมงสี่หู ห้าตา” กินถ่านไฟเป็นอาหารขับถ่ายเป็นทอง หากมีทุกข์ ความลำบากใจ เมื่อกราบขอพรจะหายจากทุกข์ มีความสุขมีโชคลาภ
ตำนาน ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากการแสวงหาข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์และเวลาที่เป็นจริง หากการสร้างมาจากความเชื่อในเวลาและเรื่องราวที่สมมุติเพื่อการอยู่ร่วมกันทางสังคมอย่างมีจารีตประเพณีและศีลธรรมมากกว่าตำนาน
มีทั้งสืบเนื่องและหลากหลายอยู่ตลอดเวลา ดั่งตำนานของ”วัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว” ในจังหวัดเชียงราย เรื่องเล่าในล้านนามาแต่โบราณ เรื่องพระอินทร์จำแลง”แมงสี่หู ห้าตา”
“วัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว” มีตำนานพื้นบ้านและเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และเมืองเชียงราย เมื่อประมาณกว่าหนึ่งพันปี มีเจ้าผู้ครองนครเชียงราย”พระยาธรรมมิกราช” เป็นผู้ก่อสร้างวัดพระธาตุเขาควายแก้ว แล้วนำพระบรมสารีริกธาตุ”ข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า” จากคณะสงฆ์ที่เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการะกราบไหว้บูชาเป็นสิริมงคลในชีวิต ต่อมาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งในสมัยเชียงแสน และสมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช
พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนิ้วก้อยข้างซ้ายพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า
ต่อมาพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาพัฒนาปรับปรุงสืบเนื่องต่อกันมา ในปัจจุบันมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ในวันเพ็ญเดือนแปด ตรงกับวันเพ็ญวิสาขบูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เรื่องเล่าหรือตำนานเกี่ยวข้องกับวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว แบ่งเป็นตำนานได้หลายเรื่องดังนี้
วัดพระธาตุควายเผือกเขาแก้ว ตำนานแมงสี่หู ห้าตา
ทางลงไปสู่ถ้ำแมงสี่หู ห้าตา ที่เป็นตำนานเล่าสู่กันมาจนถึงปัจจุบัน
ตำนาน”แมงสี่หู ห้าตา” มีลักษณะคล้ายหมี ขนปกคลุมร่างกาย มีหูสองคู่ ตา 5 ดวง ที่ดวงตาจะเป็นสีเขียว กินถ่านไฟร้อนเป็นอาหารเมื่อถ่ายมูลออกมาเป็นทองคำ แมงสี่หู ห้าตายังได้เชื่อมโยงกับพระพุทธ ศาสนาโดยว่าจำนวนสี่หู ห้าตา แสดงถึงหลักธรรมพรหมวิหาร4 และ ศีล 5
นิทานพื้นเมืองของชาวล้านนา เรื่อง “แมงสี่หู ห้าตา” หรือ”พระอินทร์จำแลง” ได้เล่าต่อกันว่าในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มฐานะยากจนขัดสน มีที่ดินเพียงเล็กน้อยไว้ปลูกข้าวกิน เกิดเหตุแห้งแล้งฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ต้นข้าวที่ปลูกไว้ไม่ประสบผลตามที่คาดหมายได้ครึ่งเสียครึ่ง มีพระอินทร์บนสวรรค์ได้มองเห็นความเป็นอยู่ของชายผู้นี้ จึงอยากช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ยาก จึงจำแลงกายเป็นสัตว์ประหลาด มีลักษณะมีสี่หู ห้าตา มาทำลายต้นข้าวในนาม ชายหนุ่มเห็นเข้าก็เกิดความโมโห คิดจะฆ่าสัตว์แต่ไม่มีอาวุธ จึงคิดหาวิธีดักจับสัตว์จนกระทั่งจับได้ จึงนำมาผูกติดไว้กับต้นเสากระท่อม
เมื่อจับได้ก็เลี้ยงไว้หลังจากเสร็จสิ้นทำนากลับบ้านในตอนเย็นได้นำหญ้ามาให้แมงสี่หู ห้าตา กิน แต่มันไม่ยอมกินยืนตัวสั่นเหมือว่าหนาว คงต้องการความอบอุ่น จึงหาฟืนมาก่อไฟสร้างความอบอุ่นให้ ในขณะที่ชายหนุ่มเสร็จภารกิจมต่างๆเข้ากระต๊อบเพื่อพักผ่อน ได้เห็นแมงสี่หู ห้าตา เก็บกินก้อนถ่านที่แดงและร้อน อย่างไม่รู้ร้อนและไม่ลวกปากดูจนตัวเองเผลอหลับ ตื่นมาตอนเช้าตนเองเห็นเป็นทองคำ ชายหนุ่มจึงนำทองคำไปขายจนร่ำรวย
ป้ายทางขึ้นวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว
การบูชากราบไหว้ขอพร”แมงสี่หู ห้าตา” หรือ”พระอินทร์จำแลง” ต้องมากราบไหว้ในช่วงเวลาค่ำ เป็นต้นไปมีความเชื่อว่า หากใครมีความทุกข์ ความลำบาก เมื่อมาขอพร เอาสิ่งไม่ดีมาทิ้งไว้ ความทุกข์ ความลำบากก็จะหายไปพร้อมกับตะวันที่ตกดิน
หลังจากนั้นก็จะมีโชคลาภ และสิ่งดีๆ จะมาพร้อมกับพระอาทิตย์ในวันรุ่งขึ้น ช่วงวันที่หวยออกนักเสี่ยงโชคก็ไม่พลาดก็จะพากันขอโชคลาภจากแมงสี่หู ห้าตา เพื่อหาตัวเลขไปเสี่ยงดวง
เรื่อง/ภาพ โดย พรหมพิริยะ จันทร์เพ็ญ