รมช. มนัญญาใช้กลไกสหกรณ์รวบรวมผลไม้ภาคตะวันออก ทำ MOU กับห้างโมเดิร์นเทรดเพื่อกระจายผลผลิตผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้ยอดการส่งออกลดลง หวังช่วยชาวสวนบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ
9มี.ค.63/ ครับนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ สหกรณ์เครือข่ายกับผู้ประกอบการภาคเอกชนและห้างโมเดิร์นเทรด โดยกล่าวว่า จากสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในจีนและอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่ที่ทำเข้าผลไม้จากไทย จึงคาดว่า จะมีผลกระทบต่อการส่งออก
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ผลไม้ไทยมี 3 ชนิดคือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ซึ่งแต่ละปีนำเข้ามากกว่า 84%ของปริมาณผลไม้ของไทย ดังนั้นเพื่อไม่ให้ผลผลิตออกมาจนล้นตลาด ทำให้ราคตกต่ำและนำไปสู่ผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงใช้กระบวนการสหกรณ์นำผลไม้ดีมีคุณภาพดีซึ่งเดิมส่งออกไปยังต่างประเทศนำกลับมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคชาวไทยได้บริโภคมากขึ้นโดยกระจายผ่านเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศ
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดมาตรการช่วยเหลือในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยจัดสรรงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ดังนี้ ด้านการผลิต ส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ผลิตผลไม้คุณภาพและผ่านมาตรฐาน GAP 1,100 ราย ซึ่งจะสามารถจัดจำหน่ายได้ในสถานประกอบการที่ต้องการมาตรฐานการรองรับ ด้านการรวบรวม พัฒนาอาคารรวบรวมผลไม้สะอาดได้มาตรฐาน GMP และจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 200 ล้านบาทให้สหกรณ์กู้ยืมไปรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกตลอดช่วงฤดูกาลผลิตปีนี้ ด้านการตลาด ส่งเสริมให้ขบวนการ สหกรณ์ใช้เครือข่ายสหกรณ์ในการเป็นผู้กระจายผลผลิตสู่การบริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยกำหนดให้มีกิจกรรมสหกรณ์พบผู้ผลิต จัดกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวในสวนผลไม้ รวมทั้งจัดมหกรรมสินค้าสหกรณ์ ปรับการจำหน่ายจากช่องทางปกติเป็นการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ซึ่งทางกระทรวงได้มอบหมายไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ดังนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางการค้าผลไม้ร่วมกันระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด
สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด จ.จันทบุรี สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด และสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคการเกษตรจังหวัดตราด จำกัด จ. ตราด สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด จ. สุราษฎร์ธานี
สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จ. นครศรีธรรมราช สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด จ. อุตรดิตถ์ และสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด จ. ลำพูน กับสหกรณ์เครือข่ายผู้รับซื้อผลไม้จากจังหวัดต่างๆ เช่น สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จ. นครราชสีมา สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จ. ร้อยเอ็ด
สหกรณ์ออมทรัพย์กรมศุลกากร จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ที่จะรับซื้อผลไม้จากสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ในภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือ เพื่อนำไปกระจายสู่ผู้บริโภคในทุกพื้นที่
อีกทั้งทำข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์ชาวสวนผลไม้กับห้างโมเดิร์นเทรด ได้แก่ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างเทสโก้โลตัส) บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เซนทรัล ฟู้ดรีเทล จำกัด (ท๊อปซูเปอร์มาเก็ต) และบริษัทผู้ส่งออก ได้แก่ บริษัท ริชฟิลด์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด โดยความร่วมมือดังกล่าวคาดหวังว่า จะมีการกระจายผลไม้ผ่านเครือข่ายสหกรณ์ คู่ค้าเอกชน ทั้งห้างโมเดิร์นเทรด ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการเพื่อช่วยกันระบายผลผลิตสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำแผนเพื่อขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ วงเงิน 414.20 ล้านบาท โดยให้สหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทางกิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์เช่น ตะกร้า กล่อง 3.5 ล้านใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่กิโลกรัมละ 50 สตางค์
ขณะเดียวกัน จะจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ ในจังหวัดใหญ่เช่นนครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานีเชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัดและระดับอำเภอ 824 อำเภอ ซึ่งในเดือนเมษายน คาดว่า ผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดราว 200,000 ตัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเข้ามาขับเคลื่อนและช่วยกระจายสินค้าผลผลิตผลไม้อย่างเป็นระบบต่อไป
กัลฑภรณ์ สุขเย็น รายงาน