เมื่อวันที่ 18 มค.64 พ.ต.ท.ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ป.ป.ช.จ.แม่ฮ่องสอน) บูรณาการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สะเรียง จนท.ตำรวจ สภ.แม่สะเรียง ชมรมสตรอง จนท.สวท.แม่สะเรียง สื่อมวลชน เดินทางเข้าพื้นที่ตรวจสอบโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ซึ่งเป็นงานติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แก้ปัญหาภัยแล้งพร้อมระบบกรองน้ำ ทั้งหมด 6 แห่ง ในโครงการทั้งหมดมี 8 แห่งและยังไม่ได้ไปตรวจสอบอีก 2 แห่ง เนื่องจากการเดินทางมีอุปสรรคในแต่ละพื้นที่ห่างไกลต้องใช้เวลา ในพื้นที่ตำบลแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
จากการตรวจสอบ ข้อมูลรายละเอียดตามป้ายโครงการในแต่ละแห่ง ที่ระบุว่าเป็นโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ในหน่วยงานภาครัฐ มีชื่อเจ้าของโครงการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 โดยติดตั้งเป็นระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมระบบกรองน้ำ จำนวน 20 ระบบ(20) หมู่บ้าน งบประมาณรวม 45,590,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน วันเริ่มสัญญา 7 กุมภาพันธ์ 2561 ถึงวันที่สิ้นสุดสัญญา 4 กันยายน 2561 ซึ่งในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีโครงการ 12 แห่งจะมีป้ายโครงการเขียนเหมือนกันหมด ยกเว้นต่างกันเฉพาะชื่อหมู่บ้านเท่านั้น สถานที่สร้างโครงการ อ.แม่สะเรียง ประกอบด้วย ต.แม่เหาะ 8 แห่ง ต.เสาหิน 3 แห่ง อ.สบเมย ต.แม่สวด มี 1 แห่ง ไปตรวจสอบ 6 แห่งพบว่า ใช้งานได้จริง 1 แห่งเท่านั้นแต่ไม่เต็มประสิทธิภาพ หลายแห่งอยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้ บางแห่งอยู่ในสภาพทิ้งร้างชำรุดเสียหายไม่มีคนดูแล
พ.ต.ท.ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผอ.ป.ป.ช.จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่าสาเหตุหลังจากการประเมินสภาพพื้นที่จริง พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง บางหมู่บ้านไม่แน่ใจว่าสามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ส่วนใหญ่สภาพบริเวณจุดที่ตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีสภาพรกร้าง แผงมีฝุ่นเกาะหนาทึบ บางแห่งมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูบ้าง ในช่วงแรกของการติดตั้งผู้รับจ้างแจ้งว่าหากพบว่ามีปัญหาให้โทรแจ้งจะมีผู้เข้ามาดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมให้ แต่เมื่อหมดระยะประกันสัญญาจึงทำให้ไม่มีผู้เข้ามาดำเนินการแก้ไข ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีความรู้เรื่องระบบไฟฟ้า และระบบการใช้งานของโซลาร์เซลล์ จึงเป็นสาเหตุให้โครงการดังกล่าวไม่มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานและชำรุดเสียหายในที่สุด
เบื้องต้น ป.ป.ช.จ.แม่ฮ่องสอน จะนำข้อมูลที่ได้ไปตรวจรายละเอียดในเชิงลึกว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณจากส่วนใด วัตถุประสงค์ของโครงการมีการศึกษาพื้นที่หรือไม่ ในส่วนของการดูแลรักษาเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใด การทำTOR การจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ การติดตั้งเป็นไปอย่างไร การใช้งานเหมาะสมกับงบประมาณหรือไม่ ซึ่งในเร็วๆนี้จะมีงบประมาณลงมาอีก2,000 กว่าล้านบาท ในลักษณะโครงการคล้ายกัน หากใช้งานไม่ได้เห็นควรต้องทบทวนใหม่อีกครั้ง เน้นผลประโยชน์ที่ชาวบ้านควรจะได้รับ ว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่จัดสรรไปหรือไม่ซึ่งต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
ชนานันท์ เง่าสุวรรณ์ จ. แม่ฮ่องสอน/รายงาน