BLCP หนุน BCG เพื่อพลังงานและเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง

DCIM113GOPRO

จากนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ( Bio Economy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากนโยบายของภาครัฐข้างต้น บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา(2563) โดยร่วมกันวิจัยและพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัตถุดิบฐานชีวภาพ ทดแทนเมทานอล  ด้วยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมไฟฟ้าถ่านหิน มาเพิ่มมูลค่าร่วมกับก๊าซไฮโดรเจน  ก๊าซมีเทน และกลีเซอรอลดิบ ในการผลิตไบโอเมทานอลระดับกึ่งอุตสาหกรรม (เฟสที่ 3) ต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย

ปัจจุบัน BLCP ได้นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการของ วว. ไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเมทานอลจากต่างประเทศ และตอบโจทย์ BCG Model ในแง่ของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งภาคอุตสาหกรรม

นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีแอลพีซี เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า “จากความต้องการเมทานอล อ้างถึงข้อมูลการนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีปริมาณมากกว่า 1,000 ล้านลิตรต่อปี  (พ.ศ. 2563) หรือราว 2 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ถูกนำเข้ามา เพื่อใช้ใน 2 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมตัวทำละลาย/สี ร้อยละ 60 และอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซลร้อยละ 40  ทั้งนี้ ไบโอเมทานอลสามารถนำมาทดแทนเมทานอลได้ โดยการผลิตจากวัตถุดิบฐานชีวภาพ  โดยตั้งเป้าไว้ในปี พ.ศ. 2565-2566 จะมีแผนติดตั้งกระบวนการผลิตไบโอเมทานอลระดับมากกว่า 20,000 ลิตรต่อวัน เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบโรงแรกของประเทศ ตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศไทย ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาจากกระบวนผลิตไบโอเมทานอล อาทิ ช่วยลดการนำเข้าเมทานอลจากจากต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ ภาคเกษตรกรที่ผลิตของเสียหรือพืชเกษตรที่สามารถผลิตไบโอก๊าซได้มีแหล่งขายวัตถุดิบเพื่อการผลิตไบโอก๊าซ และเกิดการจ้างงานจำนวนมาก เป็นต้น”

นิตยา. ทุมมานนท์ จ.ระยอง/รายงาน