นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขอความร่วมมือสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร เดินหน้าช่วยเหลือบรรเทาภาระด้านหนี้สินและลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเพื่อนสมาชิกต่อเนื่องในห้วงที่สถานการณ์ของโรคไวรัสโควิด – 19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่ตั้งแต่ปี63 ถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้สมาชิกสามารถที่จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ พร้อมกันนี้หากต้องการพัฒนาหรือเสริมสร้างอาชีพเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่ม กรมก็พร้อมที่จะเข้าสนับสนุนโดยล่าสุดกรมได้มีการจัดอบรมสมาชิกในด้านการค้าออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่สำคัญ ในขณะที่โครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านและโครงการซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ จะเป็นอีกช่องทางด้านตลาดเปิดให้สมาชิกสหกรณ์นำสินค้ามาจำหน่ายในแต่ละพื้นที่
“ทั้งนี้ผลการช่วยเหลือสมาชิกในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า สามารถที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับสมาชิกได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูล นับแต่วันออกมาตรการ เม.ย. 2563- พ.ค. 2564 รวมมูลค่าที่ช่วยลดผลกระทบกว่า 5 หมื่นล้านบาท การให้ความช่วยเหลือสมาชิกด้านหนี้สินและการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งเป็นนโยบายสำคัญของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ที่ให้กรมประสานกับสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรให้ความช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตั้งแต่เกิดสถานการณ์ โดยกรมได้วางกรอบมาตรการช่วยเหลือไว้ ทั้งนี้กรมได้มีการเก็บข้อมูลผลการช่วยเหลือ ณ ปี 2563 ถึงปัจจุบัน( พ.ค. 2564) จากสหกรณ์ที่มีมาตรการช่วยเหลือสมาชิกทั้งสิ้น 2,502 แห่ง หรือร้อยละ 33.01% ของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่มีการรวบรวมข้อมูล 7,500 แห่ง ซึ่งจากผลที่มีการเก็บข้อมูลผลการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ในรอบ 1 ปีทีผ่านมา พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เพราะเป็นการสะท้อนว่าในยามวิกฤติ วงการสหกรณ์จะไม่ทิ้งกันและพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกให้สามารถเดินหน้าต่อไป ได้ ”อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว
สำหรับผลการบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์/สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย 1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 620 แห่ง 172,845 ราย เฉลี่ยรายละ 2 แสนบาท มูลหนี้รวม 32,229.83 ล้านบาท 2.การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร เฉลี่ยร้อยละ 0.75-1.50 (ตามชั้นลูกหนี้) 611 แห่ง 511,540 ราย 3.ลดภาระส่งค่าหุ้นโดยการปรับลดและ/หรืองดส่งค่าหุ้นชั่วคราว 360 แห่ง 217,814 ราย คิดเป็นมูลค่า1,026 .51 ล้านบาท 4. การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับสมาชิกที่มีความประสงค์ยื่นขอจัดทำแผนจัดการหนี้ 342 แห่ง 50,952 ราย( 54,126 สัญญา) มูลหนี้รวม 18,189.97 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรรับภาระหนี้ 5,702.95 ล้านบาท 5. ประกันสุขภาพ พัฒนาอาชีพเสริม เงินบริจาคช่วยเหลือครอบครัว ถุงยังชีพ 303แห่ง 122,591 ครัวเรือน/ชุมชน 138.05 ล้านบาท 6. การลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกในด้านสุขภาพอนามัยและส่วนลดในการจัดหาสินค้าอุปโภค –บริโภค มาจำหน่าย 278 แห่ง 182,909 ราย ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือสมาชิก182.29 ล้านบาท
กานต์ เหมสมิติ รายงาน