คอลัมน์นิสต์ ช่วยคิด-ชวนคิด
โดย วิหคสวรรค์
เห็นตัวเลขที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เจ้ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยออกมาเมื่อเร็วๆ นี้แล้วใจหาย เมื่อพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (1 ต.ค. 63 – 30 มิ.ย. 64) จากการเก็บข้อมูลเชิงลึกของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่า คนไทยกว่า 20 ล้านคนเป็นผู้แชร์ข่าวปลอม ถ้าเราดูตัวเลขสถิติเมื่อต้นปี 2564 ประชากรไทยมีประมาณ 69.98 ล้านคน เป็นเจ้าของโทรศัพท์เคลื่อนที่ 90.66 ล้านเลขหมาย (1 คนมีมากกว่า 1 เบอร์) เป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 48.59 ล้านคน คิดเป็น 69.5% ของประชากรทั้งหมด และเป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ 55 ล้านคน หรือ 78.7% ของประชากรทั้งหมด การที่คน 20 จาก 55 ล้านเป็นผู้แชร์ข่าวปลอม ที่สำคัญอยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี ตัวนี้น่ากลัวมาก มันกำลังสะท้อนภาพอะไรของสังคมไทย และสังคมดิจิทัลของไทย
“Lack of Digital Literacy” คนไทยขาดความสามารถในการใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เพื่อค้นหา ประเมิน สร้าง และสื่อสารข้อมูล ซึ่งต้องใช้ทั้งทักษะความรู้ ความคิด และทักษะทางเทคนิค ครอบคลุมถึงการรู้เท่าทันข้อมูลและรู้เท่าทันสื่อ?
“Information Overload” หรือว่าในโลกดิจิทัลมีข้อมูลข่าวสารมากเกินไปจนไม่สามารถคิดได้อย่างถี่ถ้วน?
แต่อีกตัวเลขที่ดีอีเอสเปิดมายิ่งน่ากลัวกว่า คือมีผู้โพสต์ข่าวปลอมถึงกว่า 5.87 แสนคน ง่ายๆ ใน 100 คนของคนไทยที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จะมี 1-2 คน ที่ผลิตข่าวปลอมเข้าสู่ระบบ คนเหล่านี้สร้างความเสียหายไม่เพียงในสังคมดิจิทัล และยังสร้างความเดือดร้อนตามมาในสังคมอีกมหาศาล
ยกตัวอย่าง คนที่เสนอความจริงเพียงบางส่วน หรือเสนอความจริงในมุมมองของตน ซึ่งไม่ตรงกับความจริงที่ปรากฏ จะด้วยเจตนาส่วนตัว หรือเป็นกลุ่มคนจัดตั้ง สิ่งนี้เคยถูกอธิบายใน NBC News ไว้ว่าเป็น “Alternative fact” แปลเป็นไทยคือ “ความจริงทางเลือก” ซึ่งไม่ใช่ความจริงแต่เป็นความเท็จ เช่น คนที่เชื่อว่าธุรกิจใหญ่ต้องกินรวบผูกขาด เพราะตนก็มองแต่ว่าเป็นธุรกิจใหญ่ แต่อีกด้านธุรกิจใหญ่ๆ ในประเทศไทยยิ่งใหญ่มากก็ต้องยิ่งมีส่วนร่วมในการแบ่งปันกับสังคมมาก ไม่เช่นนั้นสังคมก็ไม่ยอมรับ แต่แน่นอนบางคนอาจไม่รู้ตัว หรือทำทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังพูด หรือนำเข้าสู่ระบบนั้นเป็นความจริงทางเลือก
เมื่อเร็วๆนี้เอง กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพิ่งจะทลายขบวนการปั่น Fake News โจมตีบริษัทนมชื่อดัง จากเพจที่โพสต์ข้อความ และภาพในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพื่อทำลายภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ ทำให้บริษัทของผู้เสียหายได้รับความเสียหายต่อเนื่อง ปรากฏว่าแอดมินเพจเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านโฆษณา และประชาสัมพันธ์ ซึ่งพบว่าเป็นการว่าจ้างจากนายทุน
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่น่ากลัวสำหรับบรรดาธุรกิจต่างๆ ในยุคนี้และอนาคต
เคสนี้ทำให้เราเห็นว่า ข้อมูลบนโลกดิจิทัลที่ท่วมท้นทุกวันนี้ จำนวนไม่น้อยถูกผลิตขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ด้านลบ แต่กรณีนี้ใช้เวลากว่า 1 ปี ถึงจะดำเนินการจับกุมได้ ช่วงเวลาดังกล่าว Fake News ที่ออกมาได้ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ สร้างความเสียหายไม่รู้เท่าไหร่ นี่ก็น่าจะเป็นตัวอย่างว่า ในทางกฎหมายเราอาจจะต้องจริงจัง เข้มงวด รวดเร็วมากขึ้น
Fake News จากโลกดิจิทัลทำลายสังคม ยกตัวอย่าง “Deep fake”จำพวกวิดีโอที่ใช้แอปพลิเคชั่นนำภาพใบหน้าบุคคลหนึ่งมาตัดต่อบนภาพร่างกายของอีกบุคคลหนึ่ง เพื่อปลอมแปลงอัตลักษณ์โดยปัญญาประดิษฐ์ นำมาใช้ในเชิงล้อเลียนผู้อื่น คนที่ถูกตัอต่อภาพ วิดีโอเขาได้รับความเสียหาย อับอาย ถูกเจ้าใจผิด ถูกประณามจากสังคมรอบข้าง หรือเรียกว่า “อันธพาลไซเบอร์” ใช้เพียงนิ้วกับคีย์บอร์ดทำลายชีวิต หรือหน้าที่การงานรวมไปถึงธุรกิจ กิจการร้านค้าต่างๆ แทบจะได้เจอบรรดาอันธพาลไซเบอร์ หรือนักเลงหัวไม้มาแล้วทั้งสิ้น
รวมไปถึงอันธพาลไซเบอร์ประเภทหิวแสง แฝงทรัพย์ตามที่สื่อใหญ่เคยกล่าวไว้ นับวันจะมีมากขึ้น “ทำให้ดัง เรียกแขก ถูกแชร์ ได้ยอดไลค์ แล้วเงินก็วิ่งมาหา…”โดยไม่คิดถึงผู้ถูกกระทำ
วันนี้ผลกรรมส่งผลเร็ว เมื่อก่อนด่าคนเดียว ได้ยินคนเดียว แต่ปัจจุบันนี้ด่ากันบนโลกออนไลน์ คนรับรู้ทั้งประเทศ กลายเป็นบาปที่ก่อให้เกิดกรรมติดจรวด นักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลายรวมทั้งอันธพาลไซเบอร์ต้องระวังให้ดี ไม่ต้องชดใช้กรรมชาติหน้า เพราะโลกออนไลน์ไม่ต้องห่วงขุดกันได้ถึงรากถึงโคน…
จับโป๊ะ…ควานหาคนทำได้เมื่อไหร่ รับรองร้องไม่ออกแน่ๆ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มีโทษหนัก จะเล่นงานทันตาเห็น!!
#อันธพาลไซเบอร์