สองผู้เชี่ยวชาญแนะเคล็ดลับสร้างแบรนด์ด้วย BCG Model

BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันอย่างเข้มข้น เมื่อประเทศไทยนำมาใช้เป็นโมเดลในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั่วโลกเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการผลิตอย่างมากมาย  

ในพิธีเปิด โครงการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่สำหรับงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok ปีที่ 2 (STYLE BANGKOK COLLABORATION 2021) ที่จัดโดยสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  ได้รับเกียรติจากสองผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และการตลาดมาร่วมให้ข้อแนะนำกับผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อจุดประกายไอเดียและแนวความคิดใหม่ๆ สำหรับการพัฒนา   แบรนด์สินค้า โดยเฉพาะการมองเป้าหมายของการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ที่จะให้เกิดผลงานใหม่ซึ่งตอบโจทย์และสอดคล้องกับ BCG Model ตลอดจนสามารถสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์และองค์กรได้ในระยะยาว 

นางปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจค้าปลีก บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล  โฮลดิ้ง จำกัด เล่าว่า BCG Economy จะเป็นโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งนำเทคโนโลยีชีวภาพมาเพิ่มคุณค่าหรือประยุกต์ใช้งานในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเกษตรให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้ภาคการผลิต เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยหมุนเวียนทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในห่วงโซ่คุณค่า เน้นการมุ่งสู่ Zero Waste และเศรษฐกิจสีเขียวที่เน้นการกินดีอยู่ดี พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

โดยการสร้างความร่วมมือกันทางการตลาดหรือ Marketing Collaboration ได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดมิติใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์ เมื่อนำทั้ง 3 เรื่องมาศึกษา เพิ่มเข้าไปในผลิตภัณฑ์ที่จะทำร่วมกัน จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์ที่มีรูปแบบใหม่ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ซึ่ง 4 หัวข้อหลักที่จะทำให้เกิดการร่วมมือกันได้อย่างดีที่สุด (4 Key Takeaways to great Collaborations) ได้แก่  

  • การทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์สามารถเร่งปฏิกิริยาที่ดีขึ้นทั้งอุตสาหกรรมได้ เช่น MOTHER OF PEARL X JOHN LEWIS ความร่วมมือกันในธุรกิจแฟชั่น โดยทั้งสองแบรนด์พยายามใช้ผ้าทั้งหมดในคอลเลกชั่นเป็นผ้าฝ้ายออร์แกนิก แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่สินค้าแฟชั่นจะมีความยั่งยืนในทุกระดับของตลาด 
  • แบรนด์ขนาดใหญ่และผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่สามารถใช้แพลตฟอร์มของกันและกันเพื่อขยายนวัตกรรม ดังเช่น LEVI’S X TARGET แบรนด์แฟชั่นไปร่วมกับร้านค้าปลีกที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกาอย่างออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ใช้ภายในบ้าน ซึ่งผู้บริโภคจะหาจากที่อื่นไม่ได้ โดยคอลเลกชั่นนี้ออกแบบโดยเน้นความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ อย่างชุดเครื่องแก้วที่ทำจากแก้วรีไซเคิล 
  • การเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ที่มีความยั่งยืนจะช่วยเพิ่มกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจ อย่างที่ ELVIS&KRESS แบรนด์ที่นำวัสดุเหลือใช้มาออกแบบเป็นสินค้าลักซ์ชัวรี่ ร่วมมือกับ BURBERRY โดยนำเศษหนังที่ไม่ได้ใช้งานของ BURBERRY กว่า 120 ตัน มาสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ 
  • ไม่มีใครเล็กเกินไป ที่จะสร้างความแตกต่าง โดยแบรนด์แฟชั่นอย่าง RAEBURN ตัดสินใจเข้าพบ TIMBERLAND เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงแบรนด์ของตัวเองให้เป็นสินค้าเอ้าท์ดอร์ (Outdoor) ระดับโลก ซึ่งขณะนั้น TIMBERLAND เองก็ต้องการยกระดับแบรนด์ให้มีความเกี่ยวข้องต่อการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นพอดี จึงเกิดการร่วมมือกันพัฒนาสินค้าใหม่โดยใช้วัสดุเหลือใช้อย่างผ้าจากร่มชูชีพจากกองทัพหรือเสื้อทหารเก่ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิต 

ด้าน มร.เซบาสเตียน มาลวิลล์ (Sébastien Maleville) สตูดิโอ ครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ จาก ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ (Jacob Jensen Design l KMUTT Bangkok) สตูดิโอผู้ให้บริการทางด้านดีไซน์ โซลูชั่นครบวงจรจากเดนมาร์ก เล่าว่า การจะเป็น BCG ได้นั้นไม่ใช่แค่งานดีไซน์แต่เป็นธุรกิจทั้งหมด ที่ผ่านมาอาจจะดำเนินธุรกิจที่มองแค่การเติบโตแบบแนวราบ (Linear Growth) คือการมองที่เม็ดเงินและผลกำไร แต่ BCG นั้นจะต้องมองถึงการเติบโตแบบหมุนเวียน (Circular Growth) คือการเติบโตในทุกมิติพร้อมๆ กัน ทั้งคน สิ่งแวดล้อม และผลประกอบการ ที่สำคัญคือ BCG Model ไม่สามารถทำคนเดียวได้ จะต้องดึงผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจมาร่วมมือด้วย โดยมีเป้าหมาย (Purpose) ชัดเจนในทางเดียวกัน ไม่ไขว้เขวไปกับโอกาสสั้นๆ ที่ผ่านเข้ามา  

นอกจากนี้ มร.เซบาสเตียน ยังชวนให้ผู้ประกอบการได้ตั้งคำถามกับตัวเองก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจในรูปแบบ BCG Model หรือก่อนออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ Nike Circular Design ซึ่งสรุปได้ 10 คำถาม ดังนี้ 

1) เนื่องจาก BCG Model ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับวัสดุ (Material) ที่เลือกใช้ ให้ถามตัวเองว่า Benchmark หรือเกณฑ์มาตรฐานของการใช้วัสดุคืออะไร 

2) เมื่อเลือกวัสดุได้แล้ว ให้พิจารณาต่อว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยจริงๆ หรือไม่ 

3) หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเลือกใช้ทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น โพลีเอสเตอร์ โฟม เหล็ก ให้ถามต่อไปว่าแล้วหากแยกชิ้นส่วนออกมาแล้ว ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นจะนำไปรีไซเคิลได้ไหม 

4) วัสดุที่เลือกมาใช้นั้นจะเพิ่มความทนทานหรือยืดอายุการใช้งานของสินค้าได้อย่างไร 

5) ทำอย่างไรที่จะออกแบบสินค้าที่ใช้เส้นใยธรรมชาติ วัสดุจากชีวภาพ หรือวัสดุสังเคราะห์ที่ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยที่สุด  

6) ลองมองออกไปนอกเหนือจากธุรกิจของตัวเองหรือในธรรมชาติ ว่ามีอะไรที่นำมาใช้กับการออกแบบได้อีก 

7) การผสมผสานวัสดุต่างๆ นั้น ไปจำกัดหรือเป็นอุปสรรคต่อการรีไซเคิลหรือไม่ 

8) การออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นพิษได้อย่างไร

9) ในห่วงโซ่การผลิตที่มีอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า ผู้ผลิต หรือภายในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีอยู่ ยึดมั่นในแนวทางปฏิบัติของการหมุนเวียนหรือความยั่งยืนเช่นเดียวกันใช่ไหม

และ 10) ควรจะเริ่มวางแผนตั้งแต่การออกแบบเลยว่า ผลิตภัณฑ์จะมี Second Life ได้อย่างไร คือหากไม่ใช้คุณสมบัติของการเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้แล้วจะสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง และจะทำให้ลูกค้าเข้าใจจากฉลากบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ได้อย่างไร 

สำหรับโครงการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่สำหรับงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok ปีที่ 2 ได้เริ่มดำเนินการแล้วอย่างเข้มข้นในรูปแบบออนไลน์ 100% เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์/แฟชั่นของไทย ในการพัฒนาและ สร้างสรรค์สินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ สู่ตลาดโลก