กรมหอยสังข์เปิดเวทีจิ้มข่าวFakeNews

กรมประชาสัมพันธ์เปิดเวทีเสวนาวิชาการ ตั้งโจทย์ “สื่อสารยุคโควิด แก้วิกฤติต้องวางแผน” เชิญวิทยากรชั้นนำ แนะการสื่อสารในยุคโควิด-19 ระบุต้องมีการวางแผนการสื่อสารที่เหมาะสม มีความน่าเชื่อถือ รวดเร็ว  ลดขั้นตอน ทันเหตุการณ์

 12ส.ค.64 / นางพิชญา เมืองเนาว์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดงาน การเสวนาวิชาการในรูปแบบออนไลน์ หัวข้อ “สื่อสารอย่างไร ให้คนไทยร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19” เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564 เวลา 09.30-12.00 น. โดยมีวิทยากรชั้นนำ ประกอบด้วย อาจารย์ นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร  ศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์​ สภากาชาดไทย  ผศ.ดร.วรัชญ์​ ครุจิต ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร​ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา​ ​2019 ​(ศบค.)รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย

พร้อมด้วย นายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ รองประธานกรรมการ บมจ.จีเอ็ม มัลติมีเดีย บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายไอยรา อัลราวีย์ บรัศว์ตฤณ บรรณาธิการเว็บไซต์อีจัน จากเพจอีจัน บรรณาธิการเว็บไซต์อีจัน โดยมี นายธีร์วัฒน์ ชูรัตน์  ผู้ประกาศข่าว ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ThaiPBS  เป็นผู้ดำเนินรายการ  จัดโดย สถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ ผู้เข้าอบรมหลักสูตร “การบริหารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์  (Strategic PR Management) รุ่นที่ 14 โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังผ่านระบบ Cisco WebEx กว่า 200 คน ซึ่งเนื้อหาของเวทีเสวนาครั้งนี้ พอสรุปใจความสำคัญที่น่าสนใจต่อการแก้ทางสู้กับ Fake News ดังนี้

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต กล่าวว่า การสื่อสารต้องมีทั้ง 2 องค์ประกอบคือ Operation และ Communication การสื่อสารอย่างเดียว จะไม่สามารถแก้วิกฤติได้ และยังเสนอหลักการต่อสู้กับ Fake News ในการแพร่ระบาดระลอกที่สอง คือ หลัก 4 F คือ  Fast ความเร็ว Fact ความจริง Frame การตั้งประเด็นเพื่ออธิบาย แต่ทั้งหมดนี้ต้องอาศัย F ตัวที่ 4 คือ Function คือ ต้องมีผู้รับผิดชอบเรื่องข่าวปลอมแต่ละหน่วยงานด้วย

.นพ.ลัญฉศักดิ์ อรรฆยากร แสดงความคิดเห็นว่า การสื่อสารควรสื่อความจริง และเป็นประโยชน์ หากไม่ครบ 2 อย่างนี้อย่าสื่อไป ควรสื่อสารถึงอดีตให้ชัดเจน สื่อสารเรื่องปัจจุบันให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของสถานการณ์ และสื่อสารถึงอนาคตให้เห็นว่าจะก้าวต่อไปอย่างไรร่วมกันบนความไม่คาดหวัง

นายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ ระบุว่า ข้อมูลของรัฐต้องเร็วกว่าความสงสัยของประชาชน วิกฤติโควิด ต้องไม่นำไปสู่ความวิบัติด้านการสื่อสาร วิกฤติขณะนี้เป็นวิกฤติของประชาชน ภาครัฐไม่ควรสื่อสารในเชิงตำหนิประชาชน ผู้นำต้องรู้ว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด ที่สำคัญ การสื่อสารในภาวะวิกฤติ ไม่จำเป็นต้องพูดความจริงทั้งหมด แต่ต้องไม่โกหก

รศ. ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก กล่าวว่า การวางแผนสำคัญที่สุด  สำหรับการสื่อสารในภาวะวิกฤติ  มีด้วยกัน 3 ระดับ คือ  สื่อสารเรื่องทั่วไป   สื่อสารเรื่องสำคัญ  และสื่อสารในภาวะวิกฤติ การสื่อสารไม่ว่าในภาวะปกติหรือในภาวะวิกฤติ ต้องมี 3 อย่าง คือ ต้องมีการวางแผน ต้องมีผู้ปฏิบัติตามแผนที่เหมาะสม  และต้องมีความน่าเชื่อถือ

สำหรับ Fake News เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับโลก เหมือนจุดไฟยังไงก็มีควัน รัฐต้องมี Real News อย่าสื่อสารความเท็จออกมาเสียเอง ถ้าจะสู้กับ Fake News ไม่ได้สู้ให้หายไป แต่ควรสู้แบบให้นัยสำคัญด้วยการลดทอนความน่าเชื่อถือให้กลายเรื่องตลกขำขำในแต่ละวัน และทำให้ถูกลดบทบาทลงไปเรื่อย ๆ จุดนี้จะทำให้ Fake News ไม่มีเอกภาพ ไม่มีความสำคัญอะไร

นายไอยรา อัลราวีย์ บรัศว์ตฤณ  กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การสื่อสารควรมีมากกว่าทางเดียว ควรสื่อสารแบบสองทาง โดยคำนึงถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก่อนนำเสนอ ต้องรวดเร็ว สั้น กระชับ เข้าใจง่าย เหมือนเป็นการบอกเล่าพูดคุยกับเพื่อน อีกทั้งหน่วยงานควรวางตัวบุคคลที่จะสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ ต้องแก้ไขวัฒนธรรมองค์กรให้สื่อสารได้รวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอน และใช้ศัพท์ที่เข้าถึงง่าย ต้องสื่อสารให้คนฟังเข้าใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องทันการณ์ และฝากคนนำเสนอข่าว เสนอข้อมูลความจริงให้ทันต่อสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม การเสวนาวิชาการในรูปแบบออนไลน์ หัวข้อ “สื่อสารอย่างไร ให้คนไทยร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19” จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสะท้อนมุมมองจากนักวิชาการและสื่อมวลชน นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขปัญหาแนวทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข่าวสาร สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเกิดความร่วมมือของประชาชนเพื่อฝ่าสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน