ปัญหาของเกษตรกรที่อำเภอคลองหลวง พบว่าในช่วงหน้าแล้งน้ำในเขื่อนมีระดับต่ำทำให้เกิดการสะสมความเค็มต่อเนื่อง เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นทำให้ความเค็มไม่ได้ถูกระบายออกไป ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องสูบน้ำเข้ามาใช้ในนาจนเกิดการสะสมความเค็มในดินท้องนา ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำ
ดินเค็มที่เกิดจากฝีมือของคนนั้น ส่วนมากมาจากทำนาเกลือ สร้างอ่างเก็บน้ำ การขุดหน้าดิน การขุดเจาะน้ำบาดาล หรือแม้กระทั่งเป็นผลกระทบตกค้างหลังจากน้ำท่วมในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ทำให้ระดับน้ำใต้ดินมีการเปลี่ยนแปลง ไหลเวียน เคลื่อนตัวไปแทนที่กัน กระจายความเค็มของน้ำออกไปตกค้างในดิน น้ำจึงเป็นตัวการแพร่กระจายความเค็ม โดยพาเอาเกลือจากที่หนึ่ง แพร่กระจาย ไปยังอีกที่หนึ่งโดยไม่สามารถควบคุมได้ สาเหตุนี้จึงทำให้เกิดเป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาดินเค็มตามมา และหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ ก็อาจจะทำให้สภาพที่ดีของดิน ไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช หรือ ผลผลิตอีกต่อไป
จากงานวิจัยของ ดร.กร สุขเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านดินที่ได้ทำงานวิจัยแก้ปัญหาพัฒนาดินเค็มมาหลายปีโดยใช้สิ่งที่มาจากธรรมชาติ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ ร่วมทดลอง กับเกษตรกรที่ประสบปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีโดรนการเกษตร เข้าช่วยในการพ่นสาร เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและสม่ำเสมอ และติดตามผลโดยพบว่า หลังจากใช้สารเสริมเทคโนโลยีชีวภาพ คุณภาพดินเริ่มดีขึ้น จากที่ดินแข็งเป็นก้อนๆ เป็นไตๆ เริ่มนุ่มขึ้น สังเกตได้จากการที่ลงไปเดินสำรวจ น้ำในท้องนาเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น เช่น ไรแดง ปู ปลา นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณภาพดินและน้ำเริ่มฟื้นฟูไปในทางที่ดีขึ้น
โดยคาดการณ์ว่า หลังจากปรับสภาพดินแล้ว การทำไร่นาในปีนี้ จะให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจมากขึ้นหลังจาก ปัญหาผลผลิตที่ตกต่ำลงในปีก่อน
อังสนา วัฒนพานิช รายงาน