จากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้นยกแผง ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ปลายข้าว รำข้าว ส่งผลต้นทุนการเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น 20-30% ตอกย้ำความเดือดร้อนของเกษตรกรภาคปศุสัตว์ เร่งรัฐเร่งแก้ปัญหาก่อนเสียหายไปมากกว่านี้ ขณะที่การเลี้ยงหมูเจอโรครุมเร้า ซ้ำด้วยน้ำท่วมหนัก และคนเลี้ยงแห่เลิกเลี้ยงเพราะขาดทุน ส่งผลปริมาณหมูลดน้อยลง วอนผู้บริโภคเข้าใจ
นายเสน่ห์ นัยเนตร เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขณะนี้อยู่ที่กว่า 11 บาท และเชื่อว่าจะไปถึง 12 บาทแน่ ส่งผลถึงต้นทุนการผลิตหมู แต่ที่แปลกใจ คือราคาปลายข้าวที่แพงมากถึง 10 กว่าบาท ทั้งๆที่ข้าวเปลือกราคาถูกมาก เกษตรกรรายย่อย 80% ผสมอาหารสัตว์กันเอง การที่พืชอาหารสัตว์ทุกชนิดมีราคาแพงขึ้นเช่นนี้ก็เดือดร้อนกันหมด เพราะการเลี้ยงหมูหนึ่งตัวมีต้นทุนค่าอาหารถึง 65% แล้ว
นอกจากนี้ฟาร์มหมูหลายแห่งยังประสบปัญหาโรคระบาด PRRS ด้วย จำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อป้องกันโรคซึ่งใช้งบสูงมาก ราคาขายก็ไม่ได้ดี เพราะถ้ามีฟาร์มใกล้ๆเกิดโรค ก็ต้องรีบขายหมูทิ้งในราคาไม่คุ้มทุน ตอนนี้รายย่อยจากที่มีแสนกว่าราย เลิกเลี้ยงกันไปมากแล้ว ไม่รู้จะเหลือรอดถึง 20,000 รายหรือไม่ ซ้ำร้ายในบางพื้นที่ยังเจอน้ำท่วมฟาร์มอีก จึงอยากขอให้รัฐเข้ามาช่วยจัดการในส่วนที่เป็นต้นทุนหลักก่อน นั่นก็คือราคาวัตถุดิบ เพื่อช่วยให้ต้นทุนไม่บานปลายไปกว่านี้ และต้องขอวอนให้ผู้บริโภคเข้าใจด้วยว่าเนื้อหมูอาจขยับราคาสูงขึ้นบ้าง เป็นเพราะปริมาณหมูในท้องตลาดมีน้อยลงจากสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จ.ยะลา กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ผู้เลี้ยงหมูเผชิญความท้าทายมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องโรคระบาดที่ทำให้ปัจจุบันต้องแบกรับต้นทุนด้านการป้องกันโรคในฟาร์มค่อนข้างสูง และขณะนี้ยังต้องประสบปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นมาก ยิ่งทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นไปอีกกว่า 20-30% แล้ว แม้ปัจจัยของราคาวัตถุดิบอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือกากถั่วเหลืองจะแพงขึ้นจากตลาดโลก แต่ส่วนหนึ่งก็คือผลพวงจากการบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศด้วย
“ข้าวเปลือกมีราคาถูกมากราว 5-6 พันบาท/ตัน ราคาปลายข้าวสำหรับทำอาหารสัตว์ควรจะอยู่ที่ 7-8 บาท/กก. แต่ปัจจุบันปลายข้าวกลับมีราคาถึง 10 กว่าบาทโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ ข้าวโพดที่มีการประกันราคารับซื้อให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชขั้นต่ำที่ 8.00 บาท/กก. แต่ไม่มีการกำหนดราคาขั้นสูง ส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นถึง 11 บาท ซ้ำเติมต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ ในเมื่อปล่อยราคาข้าวโพดได้แบบนี้ ก็ควรปล่อยราคาขายของฟาร์มตามต้นทุนที่เกิดขึ้นด้วย จึงจะสอดคล้องและเป็นธรรม” นายเกรียงศักดิ์กล่าว