กัญชาถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มาแรงไม่น้อย หลังจากที่มีการประกาศปลดล็อกกัญชาให้สามารถชื้อขาย และนำมาใช้ได้นอกเหนือจากทางการแพทย์ เกษตรกรและผู้ที่มีความสนใจเฉพาะทางด้านนี้อยู่แล้วก็เริ่มมีความหวังที่จะนำเอากัญชามาพัฒนาและต่อยอดส่งขายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ถึงแม้ว่ามีจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ดังนั้น กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจความหวังใหม่ได้หรือไม่ ลองมาศึกษาเพิ่มเติมกันได้เลย
ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศปลดล็อกกัญชานั้น กัญชาได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งถ้าใครมีไว้ในครอบครองก็จะผิดกฎหมายทันที จะมีการอนุญาตให้ใช้ก็ต่อเมื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์หรือการวิจัยเท่านั้น แต่เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 65 ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ จึงทำให้วงการสายเขียวกลับมาคึกคักเป็นอย่างมาก มีการนำเอาส่วนประกอบของกัญชามาใช้ในหลายแวดวง โดยเฉพาะการนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนทั่วไป มีการเปิดร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านค้าออนไลน์เอาใจสายเขียวออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึง บริษัทสตาร์ทอัพ ที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชา เรียกได้ว่าเป็นปีทองของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคเลยที่เดียว
กัญชากับผลกระทบทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
แม้ว่าแวดวงกัญชาจะดูคึกคักอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นธุรกิจแนวใหม่ที่น่าสนใจ และมีกระแสที่ค่อนข้างดี แต่ว่ามูลค่าทางการตลาดของกัญชานี้ยังถือว่าน้อยถ้าเทียบกับสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากเป็นพืชที่เคยเป็นยาเสพติดมาก่อน ทำให้เข้าถึงได้ยาก มีการปลูกแบบถูกกฎหมายน้อย และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับอิทธิพลมืดอีกด้วย ดังนั้นใครที่สนใจจะเข้าไปจับธุรกิจนี้ อาจจะต้องศึกษาหาข้อมูลดูให้ดีเสียก่อน มูลค่าทางการตลาดของกัญชานั้น ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การปลูกเพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์และการวิจัย หลังจากมีการปลดล็อกแล้วก็ยังต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปอยู่ การวิจัยต่าง ๆ ก็ยังมีไม่เยอะเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้กล่าวไว้ว่า การศึกษาเกี่ยวกับกัญชายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองทางการแพทย์เพื่อใช้กับผู้ป่วย และยังต้องได้รับการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ หากคำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่ายาของผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 60-80 ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทั้งหมด พบว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากมีการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยน่าจะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งยังมีขนาดที่เล็กมากหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.02-0.04 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือถ้าเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ขนาดใหญ่ของโลก มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ปลดล็อกกัญชาแล้วมีประโยชน์จริงหรือไม่…?
หลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกฏหมายนั้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดมากมายที่ทำให้บุคคลคนทั่วไปไม่สามารถปลูกกัญชาเองได้ เนื่องจากข้อกฎหมายที่ค่อนข้างยุ่งยาก และมีขั้นตอนเยอะ ข้อมูลจาก BBC Thai ได้มีการพูดคุยกับนักลงทุน เกษตรกร และนักวิจัยเกี่ยวกับนโยบาย เปิดเสรีกัญชาและกัญชง ที่มีการประกาศออกมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด และไม่ได้ก่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานสนับสนุนการเติบโตอีกด้วย
ที่สำคัญ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้นโยบายนี้ไม่ได้สวยหรูอย่างคิดคือ ขั้นตอนการขออนุญาตมีความยุ่งยาก มีระเบียบและข้อบังคับเยอะมาก ใช้เวลาในการดำเนินการนานมากเช่นกัน มีเกษตรกรและชาวบ้านจำนวนมากที่มีความสนใจที่จะปลูกกัญชาเพื่อสร้างรายได้ แต่ปัญหาก็คือ ผู้ที่จะปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายนั้น จะต้องมีการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนก่อนถึงจะอนุญาตให้ปลูกได้ และปัญหาที่สำคัญคือการยื่นเอกสารให้แก่หน่วยงานเพื่อดำเนินการขออนุญาติ ถ้าเป็นตัวเกษตรกรไปยื่นเรื่องด้วยตัวเองก็จะค่อนข้างช้า ใช้เวลานานกว่าจะได้รับอนุญาต แถมยังมีกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ แต่ถ้ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นพี่เลี้ยง จะทำให้การยื่นเอกสารเป็นไปได้อย่างสะดวก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการดำเนินการอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
ปัญหาอีกประการก็คือตลาดในการซื้อขายกัญชานั้นยังถูกจำกัดด้วยกฎหมายที่คุมเข้ม แม้จะมีการประกาศปลดล็อกกัญชา แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังเป็นไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร อย่างเช่น การประกาศว่าส่วนของ ใบ ลำต้น ราก เปลือก เส้นใย เมล็ดกัญชง น้ำมัน สารสกัด เมล็ดกัญชง และสารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) และสาร THC ไม่เกิน 0.2% สามารถนำมาใช้ได้ แต่ช่อดอกและเมล็ดนั้น ไม่สามารถใช้ได้เพราะเป็นยาเสพติด ทำให้การดำเนินการปลูกนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก โดย ดร. เชิดชัย เชี่ยวธีรกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และผู้บริหารบริษัทเน็กซ์ สเต็ปส์ ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนและวิจัยด้านสารสกัดจากกัญชาและกัญชงบอกกับบีบีซีไทยว่า “นโยบายนี้ เหมือนกับถูกหลอก เหมือนจะเสรีในลักษณะมีกำไลอีเอ็ม มีโซ่ตรวนผูกขา”
แนวโน้มการเติบโตของกัญชาในเศรษฐกิจไทย
ในตลาดต่างประเทศ กัญชาถือว่ามีแนวโน้มในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีนโยบายอนุญาติให้ใช้กัญชาในแต่ลบะประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง จากงานวิจัยเรื่องกัญชาพืชทางเลือกใหม่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความคุ้มค่าในการลงทุน ของ ผศ.ดร. รวิสสาข์ สุชาโต และคณะภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุไว้ว่า ในทวีปอเมริกาเหนือมีส่วนครองตลาดมากที่สุด บางประเทศมีการออกกฎหมายให้สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ และบางประเทศก็อนุญาตให้ใช้เพื่อการสันทนาการอีกด้วย
ส่วนในประเทศไทยนั้น ตลาดของการปลูกกัญชายังไม่กว้างเท่าไหร่นัก และยังมีปัญหาเรื่องวิธีการเพาะปลูกที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง เช่น การปลูกแบบในร่มที่ต้องใช้เงินสูงกว่าการเพราะปลูกแบบโรงเรือนทั่วไป และต้องใช้ทักษะในการดูแลสูงด้วย ทำให้กว่าจะปลูกกัญชาให้ได้คุณภาพนั้น ค่อนข้างดำเนินการยากกว่าปลูกพืชอื่น ๆ จึงค่อนข้างไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับความเสี่ยงที่จะได้ผลผลิตออกมาไม่ดีมากกว่า
ทั้งนี้ หลังจากการได้ผลผลิตมาแล้ว ก็จะมีการนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชาไปแปรรูป สิ่งที่นิยมมากในประเทศไทยก็ได้แก่ สารสกัดจากน้ำมันกัญชานั่นเอง ที่สามารถนำไปผลิตเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และยารักษาโรค แต่ก็ยังมีการใช้อยู่ในเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้ขายในวงกว้าง คนในวงการจึงมีการปรับปรุงและพัฒนาสูตรต่าง ๆ ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่เสมอ เพื่อให้ขยายฐานลูกค้า เพิ่มช่องทางการรับรู้และพยายามทำให้ลูกค้าใหม่ ๆ เปิดใจกับการใช้กัญชาได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าแม้จะมีการปลดล็อกกัญชาแล้ว แต่การดำเนินการต่าง ๆ ยังคงยุ่งยากพอสมควร จึงต้องรอดูในอนาคตต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่ เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจและต้องการปลูกกัญชาอาจจะต้องศึกษาข้อมูลและข้อกฎหมายให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ เมื่อมองในภาพรวมแล้วแม้ว่ากัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความน่าสนใจในการลงทุน และถ้าผลออกมาได้ดีก็ค่อนข้างคุ้มค่าการลงทุนเช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัดอะไรหลาย ๆ อย่างตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็ยังถือว่ากัญชานั้นอาจจะยังไม่ใช่พืชเศรษฐกิจที่จะมาเป็นความหวังใหม่ของเกษตรกรไทยเท่าไหร่นัก
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน