มูลนิธิ LPN ร่วมกับ CPF ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในองค์กรสู่ปีที่ 5

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation: LPN)  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อบูรณาการทำงานขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ เดินหน้าจัดอบรม และสานต่อโครงการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voices Hotline by LPN” สร้างความมั่นใจว่าพนักงานของซีพีเอฟทุกคนและทุกระดับได้รับการคุ้มครองสิทธิและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตอกย้ำองค์กรชั้นนำที่ดำเนินงานด้านความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างในทุกระดับ
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ มูลนิธิ LPN กล่าวว่า ความร่วมมือกับซีพีเอฟก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิของตนอย่างเสมอภาค โดยปีนี้ มูลนิธิ LPN จะจัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับพนักงานของซีพีเอฟ ให้มีความรู้และเข้าใจกฎหมายแรงงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และดำเนินการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voices Hotline by LPN” โดยมูลนิธิฯ เป็นตัวกลางรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนจากพนักงานที่มีความหลากหลายในประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นต้น เพื่อช่วยให้บริษัทฯ รับทราบปัญหาหรือข้อเสนอแนะของพนักงานเพื่อนำไปพัฒนาและจัดการกับประเด็นต่าง ๆ ได้ในเวลาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือในปีนี้ มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินกิจกรรมกับพนักงานต่างชาติอย่างใกล้ชิด เช่น การเข้าเยี่ยมและพูดคุยกับพนักงานต่างชาติถึงหอพัก (Focus Group)  เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและรับรู้ถึงความคาดหวังต่าง ๆ  นำไปสู่การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน รวมทั้งสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความเข้าใจด้านความแตกต่างและการเคารพซึ่งกันและกัน อีกทั้งกิจกรรมความร่วมมือยังครอบคลุมถึงการตรวจสอบกระบวนการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม (Ethical Recruitment) และส่งเสริมให้ตัวแทนจัดหาแรงงานที่ประเทศต้นทางจัดหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ และโปร่งใส ป้องกันปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมาย แรงงานขัดหนี้ แรงงานบังคับ และปัญหาการค้ามนุษย์
“มูลนิธิ LPN เห็นผลลัพธ์จากความร่วมมือกับซีพีเอฟ ช่วยสร้างผลดีต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานซีพีเอฟทุกคน โดยเฉพาะพนักงานต่างชาติ ดำรงชีวิตและทำงานในประเทศไทยได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี  เป็นการสร้างมาตรฐานองค์กรที่สนับสนุนการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงกับความมุ่งมั่นของมูลนิธิฯ ที่ต้องการสนับสนุนให้แรงงานต่างชาติทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีและได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค” นายสมพงค์กล่าว
ด้าน นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ ในฐานะประธานความมุ่งมั่นด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN ซึ่งเป็นองค์กรประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิแรงงาน มีส่วนช่วยให้ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเคารพสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ โดยการอบรมพนักงานและการจัดให้มีช่องทางการรับฟังเสียงของพนักงานผ่านองค์กรกลางเป็นพื้นฐานของการส่งเสริมสิทธิในการสื่อสารตามหลักสิทธิมนุษยชน เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน ทุกสัญชาติ และทุกระดับได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ตามเป้าหมายกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติ บรรลุ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)
จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงการดำเนินงานด้านความหลากหลายและความแตกต่าง และมีการรายงานข้อมูลอย่างรอบด้านและโปร่งใส ส่งผลให้เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้รับรางวัล “รายงานความยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับภูมิภาคเอเชีย”  Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA) 2021 โดยสามารถคว้ารางวัลระดับ Gold Class ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุด ในประเภท Asia’s Best Sustainability Report (Human Rights)./