สังเกตอาการเตือนโรคหลอดเลือดสมอง ตามหลักการ BEFAST รู้ไว ปลอดภัย

โรคหลอดเลือดสมอง (Acute Stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 และพิการเป็นอันดับ 3 ของคนทั่วโลก แม้จากการสำรวจจะพบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีความเสี่ยงและสามารถป้องกันได้  โดยพบว่าในปี 2563 มีประชากรโลกป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึง 14.5 ล้านคนต่อปี ใน เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก สำหรับข้อมูลในประเทศไทยในปี  2563 พบผู้ป่วยที่เป็น โรคหลอดเลือดสมอง  มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปและ อัตราการเกิดโรคประมาณ  328 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน  ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น และตามมาด้วยภาวะทุพพลภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก    

โรคหลอดเลือดสมองมักเกิดขึ้นเฉียบพลันถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจถึงชีวิต หรืออาจจะต้องอยู่ในภาวะทุพพลภาพไปตลอดชีวิต ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแล องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันหลอดเลือดสมองโลกหรือวันอัมพาตโลก

นพ.วัชรพงศ์ ชูศรี อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดและเนื้อสมองถูกทำลาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย บริโภคอาหารไม่เหมาะสม สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลที่ตามมาหลังจากการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้แก่ ภาวะอ่อนแรงของร่างกายซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ทำให้เกิดการพูดลำบาก กลืนลำบาก สำลักอาหารได้ง่าย ภาวะการรับรู้สติที่แย่ลงในโรคหลอดเลือดสมองทั้งตีบและแตกที่มีขนาดใหญ่ทำให้เกิดภาวะสมองบวมและเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจจะจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดนอกเหนือจากการใช้ยา ซึ่งกลุ่มบุคคลหรือผู้ป่วยเหล่านี้ท้ายที่สุดอาจมีโอกาสเสียชีวิตหรือทุพทลภาพอย่างถาวรได้

โดยโรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.Ischemic Stroke เป็นภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือ ภาวะสมองขาดเลือด พบได้ประมาณ 80% ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในจนหนานูน แข็ง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผนังหลอดเลือดด้านในค่อย ๆ ตีบแคบลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลำเลียงเลือดลดลง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดจากหัวใจ หรือการปริแตกของผนังหลอดเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสมอง

2.Hemorrhagic Stroke เป็นภาวะหลอดเลือดสมองแตก หรือ ภาวะเลือดออกในสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บจากการมีเลือดคั่งในเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองตายมักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดมีความเปราะและโป่งพอง นอกจากนี้ สาเหตุอื่นที่พบได้ เช่น ภาวะโป่งพองของหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคเลือด โรคตับ การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การได้รับสารพิษ การใช้สารเสพติด เป็นต้น

3.Transient ischemic attack (TIA) เป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว มีอาการคล้ายโรคสมองขาดเลือด แต่มีอาการชั่วคราวมักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว จะมีภาวะโรคหลอดเลือดสมองตามมาจึงถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบส่งโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

แม้โรคหลอดเลือดสมองมักเกิดขึ้นเฉียบพลัน แต่ก็สามารถสังเกตอาการเตือนได้ตามหลักการ BEFAST รู้ไว ปลอดภัยจากโรคหลอดเลือดสมอง โดย B : Balance : ทรงตัวไม่ได้ เวียนศีรษะ E : Eyes : ตามัวมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน F : Face : ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว ด้านใดด้านหนึ่ง A : Arm : แขนขาอ่อนแรง ด้านใดด้านหนึ่ง S : Speech : พูดติดขัด พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก T : Time :  รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด สิ่งที่ต้องเน้นย้ำและสำคัญอย่างมากเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว คือ ความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา เมื่อเกิดอาการของโรคผู้ป่วยต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชั่วโมง นับจากเริ่มมีอาการ หรือ Stroke Onset และกรณีที่จำเป็นต้องทำการใส่สายสวนเอาก้อนเลือดที่อุดตันออกจากเส้นเลือดสมอง (Endovascular) ภายใน ชั่วโมง ซึ่งจะเห็นได้ว่า เวลาถือเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินความเป็นความตายในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ก่อนที่สมองจะเสียหายจากการขาดเลือด จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 

เพราะการป้องกันเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารรสจัด และอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานผักและผลไม้ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ปรึกษาอาการ Stroke กับทีมแพทย์พยาบาลเฉพาะทาง 

ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลผ่าน Line OA คลิก: https://lin.ee/zfQsBNk  โทร. 02-310-3011 Contact center โทร.1719