(สศท. 7 )สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงผลสำเร็จ ‘กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์’ จ.ปทุมธานี ผลิตกล้วยหอมทองคุณภาพ สร้างกำไรรวมกว่าปีละ 21 ล้านบาท
10ธ.ค.65 / นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดปทุมธานีเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้จังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองทั้งจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร รวม 712 ราย พื้นที่ปลูกรวม 11,098 ไร่ โดยกล้วยหอมทองของจังหวัดปทุมธานีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ผลใหญ่ยาว เปลือกบาง ผิวนวล เนื้อเหนียวแน่น ผลดิบจะมีสีเขียวนวล เมื่อสุกจะมีสีทองนวล รสชาติหวานหอม จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างอาชีพ สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกร
จากการติดตามสถานการณ์การผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี พบว่า นับเป็นกลุ่มที่มีการวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ ผลผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และเป็นการผลิตแบบอินทรีย์ ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพ มาตรฐาน ตรงกับความต้องการตลาด ซึ่งทางกลุ่มเริ่มดำเนินการ เมื่อปี 2558 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร รวม 1,500 ไร่ มีเกษตรกรสมาชิก 30 ราย โดยมี นายนุกุล นามปราศัย เป็นประธานแปลงใหญ่ ซึ่งภายในกลุ่มมีการบริหารจัดการให้ผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปี โดยการหมุนเวียนการปลูกของสมาชิกภายในกลุ่ม ด้านสถานการณ์การผลิตของกลุ่ม ปี 2565 พบว่า เกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ 10 ไร่ ไปจนถึง 100 ไร่ โดยในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ประมาณ 300 ต้น มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 30,000 บาท/ไร่/ปี ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 7 – 8 เดือน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,365 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 44,200 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 14,200 บาท/ไร่/ปี ทั้งนี้ หากคิดเป็นผลตอบแทนของทั้งกลุ่มจะได้กำไร 21,300,000 บาท/ปี
ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งปี 2565 (ราคา ณ ไร่นา) โดยจำหน่ายแบบเครือ แบ่งเป็น 2 เกรด คือ กล้วยที่ได้เกรด (น้ำหนัก 8 – 9 กิโลกรัม/เครือ หรือ ประมาณ 6 – 7 หวี/เครือ) ราคาอยู่ที่ 150 – 200 บาท/เครือ และกล้วยตกเกรด (น้อยกว่า 6 หวี/เครือ) จะขายเหมารวม 3 เครือ ราคาอยู่ที่ 150 – 200 บาท ส่วนถ้าเป็นช่วงเทศกาล ราคาอยู่ที่เครือละ 300 บาท ซึ่งจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของกลุ่ม ทำให้ผลผลิตเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน ประกอบกับกลุ่มมีการวางแผนการผลิตให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันผลผลิตกล้วยหอมของกลุ่มมีตลาดจำหน่ายภายในประเทศได้ทั้งหมด โดยผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 จำหน่ายให้พ่อค้าผู้รวบรวม ซึ่งจะเข้ามารับซื้อผลผลิตทุกสัปดาห์ ส่วนผลผลิต ร้อยละ 30 ส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมเพื่อส่งต่อให้กับตลาด Modern Trade และ Seven Eleven
นางอังคณา กล่าวว่ากลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ นับเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จ มีการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เข้ามาสนับสนุนให้ผลผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มได้รับการรับรองเป็นสินค้า GI และที่สำคัญทางกลุ่มยังพัฒนาและรักษามาตรฐานของผลผลิต เพื่อให้ผู้ค้าและผู้บริโภคมั่นใจกับคุณภาพกล้วยหอมทอง นอกจากนี้ ทางกลุ่มมีแนวคิดการแปรรูปกล้วยหอมทองเป็นไซรัปกล้วยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์
ทั้งนี้หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มแปลงใหม่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมานี เพื่อสร้างอาชีพ เสริมรายได้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายนุกูล นามปราศรัย โทร 09-0116-1114 ยินดีให้คำปรึกษาทุกคน
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน