นับถอยหลังยุติเอดส์อีก 8 ปีข้างหน้า       

สธ.และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ถอดบทเรียนการดำเนินงานด้านเอดส์ นับถอยหลังยุติเอดส์อีก 8 ปีข้างหน้า

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย Mr.Eamonn Murphy รองผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ และ Mr. Taoufik Bakkali รักษาการผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นำทีมผู้แทนด้านเอดส์จากทั่วโลก ร่วมลงพื้นที่ศึกษาดูงานหน่วยบริการด้านเอชไอวี/เอดส์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2565 ภายใต้แนวคิด “ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเสริมสร้างพลังภาคีเครือข่ายและบูรณาการแก้ไขปัญหาเอชไอวี เข้าสู่หลักประกันสุขภาพ เพื่อยุติปัญหาเอดส์ในปี พ.ศ. 2573: บทเรียนจากการแก้ไขปัญหาเอดส์”

       เนื่องในวันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันหลักประกันสุขภาพสากล กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมควบคุมโรค กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ควบคู่กับการประชุมคณะกรรมการบริหารของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 51 (The 51st UNAIDS Programme Coordinating Board Meeting : PCB) ​

       นายแพทย์ปรีชา กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ศึกษาดูงานแบ่งออกเป็น 2 วัน วันละ 4 แห่ง รวมเป็น 8 แห่ง ประกอบด้วย มูลนิธิเอ็มพลัส เชียงใหม่, มูลนิธิแคร์แมท เชียงใหม่, ศูนย์ลดอันตรายจากยาเสพติด เชียงใหม่, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหัวริน, โรงพยาบาลสันป่าตอง, โรงพยาบาลสารภี, โรงพยาบาลธัญญารักษ์ และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและนำเสนอการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่ จากการบูรณาการอย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 95 – 95 – 95 ในการเข้าถึงบริการ และเป้าหมาย 10-10-10 เพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี ของหน่วยบริการสุขภาพที่มีองค์กรภาคประชาสังคมเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบริการสุขภาพในการเข้าถึงและจัดบริการตรวจหาเอชไอวี  ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ผ่านการรับรองมาตรฐานโดยกระทรวงสาธารณสุข และจดทะเบียนเป็นองค์กรที่สามารถเบิกจ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้บริการกับกลุ่มประชากรหลัก เช่น กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย พนักงานบริการทางเพศ คนข้ามเพศ แรงงานข้ามชาติ ผู้ต้องคุมขัง และผู้ใช้สารเสพติด

       นอกจากนี้หน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังได้เชื่อมโยงบริการเอชไอวีระหว่างชุมชนและสถานบริการสุขภาพ ผ่านโครงการสานพลังเพื่อขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติ และการติดตามการจัดบริการที่นำโดยชุมชน เพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวียังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ รัฐบาลไทยจึงมีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะความท้าทายนี้ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการทั่วโลกสานพลังเพื่อยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นใน 6 ภาคส่วน ประกอบด้วย 1) ภาคส่วนชุมชน หมู่บ้าน และครอบครัว รวมถึงชุมชนเฉพาะกลุ่ม 2) ภาคส่วนการทำงาน 3) ภาคส่วนการดูแลสุขภาพ 4) ภาคส่วนการศึกษา 5) ภาคส่วนการยุติธรรมและกฎหมาย และ 6) ภาคการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินและเพื่อมนุษยธรรม

        นายแพทย์ปรีชา กล่าวต่ออีกว่า การลงพื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ มีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 22 ประเทศ หน่วยงาน UN Cosponsors 11 องค์กร และ องค์กรเอกชนต่างประเทศ 5 องค์กร นับเป็นการลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านเอชไอวี/เอดส์ ครั้งสำคัญเพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนบทเรียนการดำเนินงานของไทยที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน และการบูรณาการเข้าสู่ระบบหลักประกันสุข เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างและเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้แทนประเทศสมาชิกในการนำบทเรียนไปประยุกต์ว่า แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด แต่สามารถพัฒนาแผนงานโครงการเอดส์ที่มีประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง