ผนึกกำลัง 4 หน่วย กรมควบคุมมลพิษ จุฬาฯ DGA และ AIS เสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าช่วยบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

กรมควบคุมมลพิษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AIS ลงนาม MOU โครงการสร้างความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในการมีชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมสะอาดสำหรับทุกคน

จากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยเฉพาะคุณภาพอากาศค่าฝุ่น PM2.5 ทั้งในภาคเหนือของประเทศไทย , กทม. และปริมณฑล เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่สำคัญและเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ  กรมควบคุมมลพิษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AIS เล็งเห็นถึงปัญหาร่วมกัน อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามคำแถลงของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันจันทร์ ที่ 11 กันยายน 2566 รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นําความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรี และนําความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนไทยทุกคน โดยคุณภาพชีวิตที่ดีประการหนึ่งคือชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน รัฐบาลจะดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคนด้วย

การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สร้างเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนจากทุกมิติ โดยสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จากชุดข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนภายใต้ โครงการสร้างความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ในครั้งนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน และเครือข่ายความร่วมมืออื่น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการพร้อมทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศรวมถึงนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ประโยชน์ จึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในเฝ้าระวังและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังต่อยอดให้เกิดแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน

กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศที่มีบทบาทในการเสนอแนะ กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด และป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ โดยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษมีความมุ่งหวังที่จะผลักดันในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากมลพิษ มีความยินดีให้การสนับสนุนข้อมูล ตลอดจนองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพื่อการดำเนินงานภายใต้โครงการสร้างความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและ “ระบบเตือนภัยฝุ่น” พร้อมจัดทำอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี จนมีแพลตฟอร์มแจ้งสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแพลตฟอร์ม CuSense และ Sensor for All รวมถึง API ที่สามารถดึงค่าฝุ่นจากในระบบ ไปต่อยอด Application ต่างๆ ได้เอง ซึ่ง ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นโอกาสอันดีของความร่วมมือนี้จะได้ร่วมกันต่อยอดจากทรัพยากรต่างๆ ที่มีของแต่ละองค์กร เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศสำหรับข้อมูลเปิดด้านสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนนำข้อมูลเปิดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและสะดวก  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลเปิดที่จะแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ PM2.5 ของประเทศไทย

ทางด้านบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด โดย นายวทัญญู เสวิกุล หัวหน้าแผนกงานขายลูกค้าองค์กร ด้านการเงินและหน่วยงานราชการ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เปิดเผยว่า เทคโนโลยี 5G ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่ได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก และเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดระยะเวลา และลดต้นทุนในการผลิต ซึ่ง IoT จะเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่คนไทยและภาคธุรกิจ AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นรายแรกและรายเดียวในไทย ตลอดจนการสนับสนุนและร่วมพัฒนานวัตกรรมให้กับทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง ecosystem ของประเทศให้แข็งแกร่ง โดยมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาเพื่อยกระดับประสบการณ์ดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกภาคส่วนในทุกมิติ

และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA โดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า ในฐานะที่ DGA เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนดิจิทัลภาครัฐ ได้หารือแนวทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยจัดการคุณภาพอากาศร่วมกันระหว่างกรมควบคุมมลพิษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ AIS โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันที่จะประสานความร่วมมือในการ ขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ตามบันทึกความร่วมมือนี้

DGA ซึ่งมีภาระกิจสำคัญหนึ่งในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุน กระตุ้น ติดตามให้คำปรึกษา ตลอดจนส่งเสริมหน่วยงานรัฐให้มีการพัฒนาข้อมูลเปิดให้มีความทันสมัย มีความถูกต้อง และนำไปใช้งานได้หลากหลายเกิดประโยชน์แก่ประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ พร้อมยินดีให้การสนับสนุนและผลักดันเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลเปิดด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ความร่วมมือในโครงการนี้ นอกจากนี้ DGA ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งเสมือน SUPER APP ของภาครัฐที่รวมการให้บริการจากทุกหน่วยงานรัฐที่ช่วยแก้ปัญหาประชาชน ปัจจุบันมีบริการแล้วกว่า 112 บริการ โดย DGA มีความมุ่งหวังที่จะต่อยอดผลจากการดำเนินงานโครงการนี้ให้สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้บน แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ต่อไป ทั้งนี้โครงการสร้างความร่วมมือดังกล่าวจะได้ช่วยผลักดันนโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน