ในอดีต ‘กัญชา’ เคยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศปลดล็อกกัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสามารถใช้ทุกส่วนของกัญชาได้ ไม่ว่าจะเป็นใบ, กิ่ง, ก้าน หรือดอก แต่ปริมาณการใช้ต้องไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตามเหรียญยังมีสองด้าน กัญชาก็เช่นกัน เพียงแต่เราต้องพิจารณาการใช้, วิธีใช้ และปริมาณการใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งวันนี้เราอยากจะชวนมาทำความรู้จักกัญชาให้มากขึ้นอีกนิด ไปติดตามกันว่ามีอะไรบ้าง
กัญชา คืออะไร
กัญชา คือพืชล้มลุกอยู่ในสกุล Cannabis วงศ์ Cannabaceae ซึ่งสายพันธุ์ที่เราจะพบได้บ่อยจะมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ซาติวา (Sativa), อินดิกา (Indica) และรูเดอราลิส (Ruderalis) ส่วนคำว่า ‘มาลีฮวนน่า’ (Marijuana) เป็นส่วนที่หมายถึง ดอกที่นำมาสูบ
ลักษณะของต้นกัญชาจะสูงประมาณ 2-4 ฟุต ในหนึ่งก้านจะแตกใบราว ๆ 5-8 แฉกคล้าย ๆ ใบสัมปะหลังหรือใบละหุ่ง
สารประกอบในกัญชา
ในกัญชามีสารประกอบกลุ่มแคนนาบินอยด์ อยู่ 2 ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ สาร CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol) แต่ละตัวมีประโยชน์ที่ต่างกัน ดังนี้
- สาร CBD (Cannabidiol)
สาร CBD เป็นสารประกอบกัญชาที่นิยมนำมาใช้ทางการแพทย์มากมาย
– ลดอาการปวดเรื้อรัง
– ลดความวิตกกังวล ช่วยให้ผ่อนคลาย
– ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับ
– ไม่มีผลทำให้เกิดการเสพติด
– ไม่มีผลต่อจิตประสาท
- สาร THC (Tetrahydrocannabinol)
สาร THC เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สารนี้จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ขณะที่สกัดกัญชา หากร่างกายได้รับสารนี้มากไปหรือถ้าร่างกายใครมีความไวต่อสารนี้ ก็อาจส่งผลกระทบด้านลบได้ อาทิ
– เกิดความหวาดระแวง วิตกกังวล
– ประสาทหลอน หูแว่ว
– ความดันโลหิตต่ำ ใจสั่น
– ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงกะทันหัน
ข้อดีของกัญชา
ข้อดีของกัญชามีมากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณในด้านการรักษาจนทำให้วงการแพทย์หันมาใช้กัญชาเพื่อเป็นหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วย ดังนี้
- เพิ่มความอยากอาหาร เหมาะสำหรับผู้ที่เบื่ออาหาร มีความอยากอาหารน้อยลง จนกระทบกับน้ำหนักตัวและการใช้ชีวิตประจำวัน
- รู้สึกวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งกัญชาสามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้
- ช่วยรักษาผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า เป็นการลดพฤติกรรมรุนแรงด้านอารมณ์ ช่วยให้สงบได้
- มีงานวิจัยระบุว่า สาร THC สามารถใช้ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้
- ช่วยทำให้เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย (มะเร็ง) หดตัวเหี่ยวลงได้
- ช่วยให้ผู้ที่นอนไม่หลับมีวงจรการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อเสียของกัญชา
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเหรียญยังมีสองด้าน ดังนั้น การใช้หรือการบริโภคอะไรที่มากเกินไปก็ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายได้ อาทิ
- หากบริโภคกัญชามากเกินไป อาจส่งผลให้ผู้เสพมีอาการมึนเมา, วิงเวียนศีรษะ, เห็นภาพหลอน, หวาดระแวง และหูแว่วไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
- ผู้ที่มีเป็นโรคจิตเวชหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจิตเวชไม่ควรให้บริโภคกัญชา เพราะจะยิ่งทำให้อาการหนักขึ้นได้ อาทิ สมาธิสั้น, เกิดความสับสน และกังวลมากขึ้น
- หากบริโภคกัญชาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายซูบผอม เป็นเหตุให้เกิดโรคได้ง่าย
กัญชารักษาโรคอะไรได้บ้าง
ด้วยกัญชามีสรรพคุณที่ช่วยในการรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย หลังการปลดล็อกกัญชาแล้ว จึงไม่แปลกใจว่าเพราะอะไรวงการแพทย์ถึงได้นำกัญชามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา เพราะโรคที่สามารถใช้กัญชารักษา ได้แก่
- ภาวะคลื่นไส้จากการรับเคมีบำบัด
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- โรคลมชัก
- โรคพาร์กินสัน
- โรคอัลไซเมอร์
- โรควิตกกังวล
ผู้ที่ไม่สามารถใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค
แม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์และสรรพคุณในการรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำกัญชาไปใช้ได้กับทุกคน ซึ่งยังคงมีกลุ่มที่ต้องยกเว้นอีก ดังนี้
- สตรีมีครรภ์ และคุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นมบุตร
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตัวเอง
- ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตจากการเคยเสพสารเสพติด และโรคจิตเภท
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือด, โรคตับ และโรคไตที่อยู่ในขั้นรุนแรง
- ผู้มีประวัติแพ้สารในกัญชามาก่อน
กัญชามีประโยชน์มากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับนั้นหลับได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น, ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย, บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง, บรรเทาอาการปวดข้อ รวมถึงบรรเทาอาการคลื่นไส้ และอื่น ๆ อีกมากมาย และนี่คือประโยชน์ที่ได้จาก CBD แต่ก็อย่าลืมว่าในขั้นตอนที่สกัดสารในกัญชาออกมาเราก็ยังจะได้สาร THC ซึ่งสารนี้หากใช้มากเกินปริมาณที่กำหนด อาจทำให้เกิดอาการมึนเมา, ประสาทหลอน, หวาดระแวง และหูแว่วได้ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการใช้กัญชาเป็นทางเลือกในการรักษาควรศึกษาเกี่ยวกับกัญชาเพิ่มเติมโดยสามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่นี่ก่อนได้ พร้อมกับเข้ารับ คำแนะนำจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าเคยใช้กัญชาในการรักษามาก่อนหรือไม่ เพื่อให้แพทย์ได้คำนวณปริมาณการใช้กัญชา ประเภทกัญชาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลต่อไป
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน