กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนผู้ปลูก “พืชตระกูลปาล์ม” เฝ้าระวังด้วงแรดมะพร้าววางไข่ในระยะนี้ แนะให้เกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลปาล์มทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคตะวันออก เร่งสำรวจแปลงเพาะปลูก รวมทั้งทำลายแหล่งขยายพันธุ์และกำจัดตัวเต็มวัย เพื่อป้องกันการเข้าทำลายผลผลิตและสร้างความเสียหายในวงกว้าง
16มิ.ย.66 / นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลปาล์ม เช่น มะพร้าว และ ปาล์มน้ำมัน ให้เฝ้าระวังการระบาดของด้วงแรดมะพร้าว เนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม เป็นช่วงฤดูกาลที่ด้วงแรดมะพร้าวจะผสมพันธุ์และวางไข่ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอแนะนำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลปาล์มทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคตะวันออก เร่งสำรวจแปลงเพาะปลูก รวมทั้งทำลายแหล่งขยายพันธุ์และกำจัดตัวเต็มวัย เพื่อป้องกันการเข้าทำลายผลผลิตและสร้างความเสียหายในวงกว้าง
ด้วงแรดมะพร้าว มีระยะการเจริญเติบโต 4 ระยะ ได้แก่
1) ระยะไข่ มีลักษณะกลมรีสีขาวนวล ขนาดกว้าง 2 – 3 มิลลิเมตร ยาว 3 – 4 มิลลิเมตร เมื่อใกล้ฟักจะมีสีน้ำตาลอ่อน โดยปกติไข่จะถูกวางลึกลงไปจากดินประมาณ 5 – 15 เซนติเมตร ในแหล่งขยายพันธุ์ที่มีการย่อยสลายของอินทรียวัตถุต่าง ๆ สมบูรณ์แล้ว บางครั้งอาจพบที่ตอมะพร้าวผุ โดยไข่จะถูกฝังอยู่ใต้เปลือกมะพร้าวรอบตอที่ผุนั้น
2) ระยะหนอน เมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ ๆ ลำตัวมีสีขาว ขนาด 2 x 7.5 มิลลิเมตร หัวกะโหลกสีน้ำตาลอ่อน กว้างประมาณ 2 – 2.5 มิลลิเมตร มีขาจริง 3 คู่ ด้านข้างลำตัวมีรูหายใจจำนวน 9 คู่ หนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 60 – 90 มิลลิเมตร
3) ระยะดักแด้ เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่จะหยุดกินอาหารและสร้างรังเป็นโพรง หนอนจะหดตัวอยู่ภายในเป็นเวลา 5 – 8 วัน จึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้สีน้ำตาลแดงขนาดประมาณ 22 x 50 มิลลิเมตร
4) ระยะตัวเต็มวัย เป็นด้วงปีกแข็งสีดำ เป็นมันวาว ใต้ท้องสีน้ำตาลแดง มีขนาดกว้าง 20 – 23 มิลลิเมตรยาว 30 – 52 มิลลิเมตร สามารถแยกเพศได้โดยตัวเต็มวัยเพศผู้มีเขาลักษณะคล้ายเขาแรดอยู่บนส่วนหัวยาวโค้ง ด้วงแรดเพศเมียจะรับการผสมพันธุ์และวางไข่เมื่อออกจากดักแด้แล้วประมาณ 40-50วัน วางไข่ครั้งละประมาณ 10-30 ฟอง และวางไข่ได้สูงสุดประมาณ 152 ฟอง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ด้วงแรดมะพร้าวจะทำความเสียหายให้กับพืชสดเฉพาะตัวเต็มวัยเท่านั้นโดยจะบินขึ้นไปเจาะกินยอดอ่อนมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมันที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลาหรือรูปพัด ถ้าโดนทำลายมากๆ จะทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกรน รอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อนทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่หรือเป็นทางให้เกิดยอดเน่าจนถึงต้นตายได้ในที่สุด การระบาดของด้วงแรดมักพบในสวนที่ปล่อยให้รกหรือมีกองเศษพืช ตอมะพร้าวผุ กองขยะต้นมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ กองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนจึงควรเร่งกำจัดเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรดมะพร้าว
สำหรับวิธีการป้องกันกำจัด ได้แก่
1) วิธีเขตกรรม โดยทำความสะอาดบริเวณสวนมะพร้าวเพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ หากมีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองเศษพืชควรกำจัดออกไปจากบริเวณสวน หรือกองให้เป็นที่ แล้วหมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหากพบหนอนให้จับมาทำลาย หรือเผาลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย ตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องใช้แล้วราดให้ทั่วตอเพื่อป้องกันการวางไข่
2) การใช้ชีววิธี โดยใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม (Metarhizium sp.) ใส่ไว้ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ เกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกองเพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด รดน้ำให้ความชื้น และหาวัสดุ เช่น ใบมะพร้าวคลุมกอง ไว้เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด เชื้อราเขียวจะทำลายด้วงแรดมะพร้าวทุกระยะการเจริญเติบโต
3) การใช้กับดักล่อฟีโรโมน เพื่อล่อจับตัวเต็มวัย และนำมาทำลาย
4) การใช้สารเคมี สำหรับต้นมะพร้าวหรือปาล์มที่ไม่สูงมาก ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอที่โคนทางใบรอบ ๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6 – 8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว หรือใช้สารเคมีกำจัดแมลงไดอะซินอน 60% EC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาให้เปียกโดยใช้ปริมาณ 1 – 1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15 – 20 วัน ควรใช้ 1 – 2 ครั้งในช่วงระบาด
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน