AIT เปิด 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน รุกขยายสู่ธุรกิจคาร์บอนเครดิตครบวงจร

‘บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี’ หรือ (AIT) เปิด 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน
รุกขยายฐานลูกค้า, สร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าหรือพันธมิตร, พัฒนาบุคคลากร, พัฒนาระบบภายใน และขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าทำรายได้ปี 67 ที่ 6,800 ล้านบาท และตุน
Backlog 6,200 ล้านบาท เตรียมประมูลงานรัฐ-เอกชน มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท และขยายเข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้อย่างครบวงจร พร้อมให้บริการระบบจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพรินท์แบบอัตโนมัติ และ เตรียมให้บริการด้านคำปรึกษา การพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
คาดชัดเจนเร็วๆนี้

นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ
AIT ผู้นำในธุรกิจรับเหมาระบบสารสนเทศและการสื่อสารอย่างครบวงจร เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน
ผ่านแนวทางการดำเนินธุรกิจใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.) ขยายฐานลูกค้าสร้างการเติบโตของรายได้
 2.) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทฯ 3.) พัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับการทำงานที่ท้าทาย 4.) พัฒนาระบบภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และ 5.) ขยายธุรกิจที่สร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ทั้งนี้ AIT ได้ตั้งเป้าผลการดำเนินงานปี 2567 มีรายได้รวม 6,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566
ที่มีรายได้ 6,520 ล้านบาท โดยมีมูลค่างานที่มีอยู่ในมือ (Backlog) ณ วันที่ 1 มีนาคม 2567 จำนวน 6,200 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ส่วนใหญ่ในปีนี้ แบ่งเป็น งานภาครัฐ (Government) จำนวน 1,450 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23% งานรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise) 1,100 ล้านบาท หรือ 18% งานสถาบันการเงิน (Financial Service Industry) 1,100 ล้านบาท หรือ 18% งานผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Service Provider) 1,750 ล้านบาท หรือ 28% และ งานเอกชน (Enterprise) จำนวน 800 ล้านบาท หรือ 13% พร้อมกันนี้ บริษัทฯ เตรียมเข้าร่วมประมูลงานใหม่ มูลค่างานไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท เน้นงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง ในธุรกิจที่ AIT มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ Cloud Platform, Big Data Analytics, SDN, Cyber Security, และ IOT รวมถึงธุรกิจขายระบบโครงสร้างพื้นฐาน ICT ต่างๆ

ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AIT กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มขยายเข้าสู่ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต นับเป็นธุรกิจที่จะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตสูง ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ปลูกต้นกล้าสักไปแล้วกว่า 135,200 ต้น บนเนื้อที่จำนวน 338 ไร่ และคาดว่าจะปลูกเพิ่มอีกจำนวน 240,000 ต้นบนเนื้อที่จำนวน 600 ไร่ ที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ในขณะเดียวกันได้มองหาโอกาสใหม่ๆ ในหลายรูปแบบ เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ได้แก่ 1.) การขยายเข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้อย่างครบวงจร โดยจะผลิตและขายกล้าต้นสักทองด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture), ให้บริการครบวงจรในการปลูกป่า ตั้งแต่การออกแบบ การเตรียมพื้นที่ปลูก การดูแลต้นไม้ การบำรุงรักษาโครงการ  การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และจะเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน ซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ การจัดซื้อจัดหาไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้สักคุณภาพสูง 2.) ให้บริการระบบจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint) แบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี IoT และ AI 3.) ให้บริการด้านคำปรึกษา การพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเร็วๆนี้

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากงบเฉพาะกิจการ 6,514 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 ที่มีรายได้จากงบเฉพาะกิจการอยู่ที่ 6,681 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 424 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทรับรู้รายได้ส่วนใหญ่จากลูกค้าภาครัฐและภาคเอกชน เช่น โครงการงานจ้างพัฒนาระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการงานขนส่งสินค้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย, โครงการจัดหาและพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการวิจัยและกำหนดนโยบายของสำนักงานประกันสังคม, โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯจึงมีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลเพิ่มอีกในอัตราหุ้นละ 0.17 บาท (สิบเจ็ดสตางค์) โดยกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 22 เมษายน 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นี้ อย่างไรก็ตาม สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าวขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 11 เมษายน 2567 ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท (สิบห้าสตางค์) ที่จ่ายเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.32 บาท (สามสิบสองสตางค์) ตอกย้ำการเป็นหนึ่งในหุ้นปันผล (Dividend Stock) ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง